ในความเงียบ มักมีอะไรให้ค้นหาอยู่เสมอ ! ยิ่งถ้าเป็นความเงียบ สงบนิ่ง ชนิดที่เรียกว่า "ผิดวิสัย" ยิ่งทำให้ "ศัตรู" ไม่ควรกระพริบตา เพราะอาจไม่คาดคิดว่า ที่เคยประเมินว่าจะ "เอาอยู่" อาจจะต้อง "เปลี่ยนแผน" กระทันหัน ! การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 24 ส.ค.64 ที่ผ่านมา "รัชดา ธนาดิเรก" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลพร้อมให้เวลาแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามทีได้มีการยื่นญัตติไปแล้ว โดยให้วันตั้งแต่ 31 ส.ค. เป็นต้นไป ส่วนจะเป็นวันใด ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณา " นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงตอบข้อสงสัยทุกประเด็น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และสังคมได้รับทราบข้อเท็จจริง" รองโฆษกรัฐบาล ระบุผ่านสื่อ เมื่อฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณมาแล้วว่า "พร้อม" จากนี้ต้องรอเงี่ยหูฟังกันว่าที่สุดแล้ว ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ "นายกฯ" พ่วง "5รัฐมนตรี" ตามที่ "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร มาก่อนหน้านี้ จะถูกบรรจุในวาระ กำหนดวันว. เวลา น. ให้ได้มีการระเบิดศึกซักฟอกกันวันไหน โดยเฉพาะจะเป็นวันที่ 31 ส.ค. ไปจนถึงวันที่ 2 ก.ย.ตามที่ฝ่ายค้านได้เคย "วางกรอบ" กันเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า จากนี้ไปเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน จะมีการปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 ก.ย.นี้แล้ว ! หมายความว่า ในระหว่างนี้ จึงเป็นทั้ง "โอกาส" และ "วิกฤต" สำหรับทั้ง "รัฐบาล" รวมทั้ง "ฝ่ายค้าน" ไม่ต่างกัน เมื่อรัฐบาลโดยเฉพาะ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ "5รัฐมนตรี" ประกอบด้วย รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ คือ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน และ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล จากพรรคภูมิใจไทย อย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลอันดับสาม คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และ 5รัฐมนตรี จะต้องใช้เวลาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับศึกซักฟอก โดยเปลี่ยนจากวิกฤติทั้งจากการบริหารงานสู้ไวรัสโควิด -19 ให้กลายเป็น "โอกาส" ให้ได้มากที่สุดได้อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นอย่าลืมว่า แม้รัฐบาลจะชนะโหวตจาก "เสียงในสภาฯ" แต่การลากเกมออกไปข้างนอกเพื่อให้ "ผู้ชุมนุม" เขย่าต่อทั้งในประเทศ จนลุกลามดึง โลกให้มาล้อมไทย จะยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น น่าสนใจว่าด้วยท่าทีที่เงียบจนผิดปกติของพล.อ.ประยุทธ์ ในท่ามกลาง "ข่าวลือ" ว่าเจ้าตัวอาจจะ "ถอดใจ" ไม่ไปกลับมานั่งนายกฯต่อเป็นสมัยที่สาม หลังการเลือกตั้งรอบหน้านั้น ทางหนึ่งอาจสร้างขวัญกำลังใจให้ "ฝ่ายตรงข้าม" มีความหวัง ฮึกเหิมและยังอยากเคลื่อนไหวขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่หยุดหย่อน หากแต่ในทางกลับกัน อย่าลืมว่าการใช้กลยุทธ์ข่าวลวงเพื่อ "ปั่นกระแส" ทั้งต่อ "ฝ่ายตรงข้าม" หรือแม้แต่ "พรรคร่วมรัฐบาล" ด้วยกันเอง ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจับอาการของพล.อ.ประยุทธ์ เองในห้วงหลัง แม้จะเก็บตัวเงียบทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังงดให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมอบหมายให้ โฆษกรัฐบาล ทำหน้าที่ชี้แจงประเด็นต่างๆแทน แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆที่จะบ่งชี้หรือการันตีได้ว่า "บิ๊กตู่ จะถอดใจ" แม้พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะประกาศว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้าย ของ "ระบอบประยุทธ์" แต่สำหรับ "บิ๊กตู่" แล้วไม่ว่าจะย้ำอีกกี่รอบ ก็ประกาศแล้วว่า "อยู่ครบเทอม" แน่นอน !