ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดของวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On Site ได้ตามปกติ โดยกว่า 20,000 โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีเพียงประมาณ 2,000 โรงเรียนเท่านั้นสามารถเปิดเรียนแบบ ON Site คิดเป็น 10 % ของโรงเรียนทั้งหมดเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน คาดว่าอีกนานกว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการให้สถานศึกษาสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ ในขณะที่ปัญหาจากการเรียนออนไลน์ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งครู ผู้ปกครองและนักเรียน จนมีนักวิชาการเสนอแนวคิดเสนอให้มีการหยุดเรียนเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการมองสถานการณ์นี้ ไม่สามารถหยุดกระบวนการเรียนรู้ได้ ในทางกลับกัน มองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นโอกาสให้เราปรับกระบวนการเรียนการสอนในอนาคต แทนการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมอีกเด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศ 3 มาตรการลดภาระทางการศึกษา ภายใต้ภาวะวิกฤติในปัจจุบัน เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั่วประเทศ โดยมาตรการที่ 1 คือ การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อาทิ โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนทุกสังกัดที่เปิดสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้ มาตรการที่ 2 อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา และสังกัด กศน. ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึง 15 ตุลาคม 2564 (2 เดือน) โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่นๆ และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ และมาตรการที่ 3 การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่างๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น ขณะที่การลดภาระนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยให้การบ้านเท่าที่จำเป็น เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เช่น ภาระงาน การบ้าน พฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น รวมถึงการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน หรือการออกกำลัง ซึ่งการนับเมื่อเกิดการเรียนรู้จะช่วยลดความตึงเครียด ให้ครูและนักเรียนได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลการสำรวจพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 79.1% ยังพบอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ โดยอุปสรรคสำคัญ คือ ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ โดยพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วน 50.9% ขณะที่การเรียนผ่านแท็บเล็ตคิดเป็น 34.2% และเรียนผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีประมาณ 32.6% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองยังมีความกังวลต่อรูปแบบการเรียนออนไลน์ โดยสิ่งที่ผู้ปกครองมีความกังวลมากที่สุด คือ คุณภาพการศึกษา (คิดเป็น 56.4%) เด็กนักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน เนื่องจากการเรียนออนไลน์ต้องมีแรงจูงใจและมีทักษะในการบริหารจัดการเวลาเรียน รูปแบบของการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดในการโต้ตอบระหว่างผู้สอนและผู้เรียน และเหมาะสำหรับบางวิชาที่สอนทฤษฎีแต่จะไม่เหมาะในวิชาที่ต้องมีการปฏิบัติ ขณะที่ ผู้ปกครองประมาณ 48.2% มองว่า การเรียนออนไลน์ระยะยาวจะส่งผลในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุตรหลาน เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น สายตา ของนักเรียนและไม่เหมาะกับเด็กนักเรียนเนื่องจากเด็กต้องมีสังคมและเพื่อน นอกจากนี้ ผู้ปกครองกว่า 37.8% มองในเรื่องของข้อจำกัดและความไม่ปลอดภัยของเทคโนโลยี โดยมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำกัด และกังวลต่อภัยที่มากับโลกออนไลน์ เช่น ปัญหาจากไวรัส และมิจฉาชีพ ทั้งนี้ เราคาดหวังว่า มาตรการลดภาระทางการศีกษา จะช่วยประคับประคองนักเรียน และผู้ปกครองให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติการเรียนออนไลน์ไปได้ แม้การเรียนออนไลน์ จะเป็นความท้าทายและปฏิรูปการศึกษาแนวทางหนึ่ง แต่สำหรับเด็กเล็กในชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมต้นนั้น สังคมในโรงเรียนยังคงมีความสำคัญในการนเป็นเบ้าหลอมการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยความมีวินัย ความรับผิดชอบ และฝึกความฉลาดทางอารมณ์ ที่เป็นเรื่องสำคัญของการพัฒนาบุคคลากรของประเทศไม่น้อยกว่าเรื่องของความฉลาดทางวิชาการ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะที่สามารถควบคุมได้ ทั้งตัดวงจรการะบาดและการรองรับผู้ป่วยในระบบสาธารณสุข การผ่อนปรนมาตรการเปิดเรียนให้แก่เด็กแบบ On Site ในพื้นที่ที่มีความพร้อม ก็จะเป็นผลดีต่อตัวเด็ก และต่อประเทศ