รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คนไทยอยู่กับโควิด-19 มาแล้วเกือบ 2 ปี....!! 2 ปีสำหรับบางคนที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ก็เป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ รอให้สถานการณ์โรคร้ายผ่านพ้นไป เพื่อกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง 2 ปีสำหรับบางคนที่ความเป็นอยู่ลำบาก นับเป็นช่วงเวลาอันแสนสาหัส กว่าจะผ่านแต่ละวันไปได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถึงจะยอมรับได้ว่าโควิด-19 นี้เป็นสถานการณ์วิกฤติที่ประสบเหมือนกันทั่วโลก แต่บางประเทศก็มีอัตราการฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่รวดเร็ว และบางประเทศก็ฟื้นตัวได้ช้า เว็บไซต์นิคเคอิเอเชียรายงานดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 (The Nikkei COVID-19 Recovery Index) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 120 อันดับสุดท้ายเท่ากับเวียดนาม โดยการจัดอันดับครั้งนี้พิจารณาจากการบริหารจัดการการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม เมื่อมองไปยังประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ประชาชนในประเทศก็ย่อมมีความรู้สึก ความต้องการ และความคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในเร็ววัน เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ (New Normal) อย่างที่เป็นอยู่ เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจในอากาศที่สะอาดอย่างเท่าเทียมกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ความต้องการของคนไทยในยุคโควิด-19” โดยสอบถามใน 3 ประเด็นหลัก คือ ในยุคโควิด-19 คนไทยต้องการอะไรมากที่สุด จากความต้องการดังกล่าวคาดว่าจะสมหวังหรือไม่ และจากความต้องการและความคาดหวังครั้งนี้อยากจะฝากความหวังไว้กับใคร!! ประเด็นที่สอบถามครอบคลุมด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อาทิ ความต้องการด้านสุขภาพ,การจัดการกับโควิด-19, การเข้าถึงการรักษา, การลดภาระค่าใช้จ่าย, มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ, การทำงานของรัฐบาล, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความเท่าเทียมในสังคม เป็นต้น ผลการสำรวจครั้งนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนในยุคโควิด-19 นั้นมีความต้องอะไรมากที่สุด รวมไปถึงในมุมมองของเขา มองว่าจะสมหวังหรือไม่กับสิ่งที่คาดหวังไว้ ประเด็นแรกเรื่องความต้องการ ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผน ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ส่วนประเด็นหลังเรื่องความคาดหวัง เป็นกระจกที่สะท้อนให้ถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการใช้ชีวิต การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงภาพรวมการบริหารจัดการของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีความคาดหวัง (Expectancy Theory) ของวิคเตอร์ วรูม (Victer H. Vroom) ที่กล่าวไว้ว่า ความคาดหวังเป็นความพึงพอใจของบุคคลที่มีต่อผลลัพธ์ เมื่อเกิดความเชื่อมั่นจากการเห็นผลลัพธ์ที่ผ่าน ๆ มา ก็จะส่งผลให้รู้สึกว่า “เรื่องนี้-ประเด็นนี้-สิ่งนี้” น่าจะสมหวัง หรือ “ไม่สมหวัง” นั่นเอง ก่อนยุคโควิด-19 คนต้องการและคาดหวังว่าจะมีชีวิตยืนยาว มีเงินมีทองใช้ ไม่เจ็บไม่จน สุขภาพกายใจแข็งแรง มีหน้าที่การงานมั่นคง มีชีวิตที่สะดวกสบาย ฯลฯ หลังเข้าสู่ยุคโควิด-19 อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการมีสุขภาพที่ดี ไม่ติดโควิด-19 แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องเงินทองจะไม่สำคัญ เพราะหากไม่มีเงินก็ไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้เลย เพราะการเข้าถึงการตรวจรักษาไม่ใช่ไม่มีค่าใช้จ่าย การเข้าถึงวัคซีนก็ไม่ใช่ได้มาโดยง่าย นี่อาจจะเป็นเพียงแค่ “ความรู้สึก” แต่ถ้าจะให้ชัดเจนมากกว่านี้ การคาดเดาคงต้องดูตัวเลขและข้อมูลจาก “โพล” เพราะผลโพลที่สำรวจครั้งนี้..เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารไปยังรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่าย ว่าประชาชนนั้นต้องการอะไร คาดหวังอะไร และจะดีไปกว่านั้นหากมีการนำผลไปพิจารณาและเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ลองคาดหวังกันอีกครั้งนะครับ ว่า “สมหวัง” หรือ “ผิดหวัง” มากน้อยแค่ไหน...โปรดติดตามผลการสำรวจที่เป็นทางการในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้