และแล้ว บรรยากาศทางการเมืองก็วนกลับเข้าลูปเดิม เมื่อยามที่ "เกมแก้รัฐธรรมนูญ" เข้าสู่ "สังเวียนรัฐสภา" อีกครั้ง !
โดยเฉพาะในยามหน้าสิ่ว หน้าขวานเมื่อรัฐบาลของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องรับมือกับ "ศึกใหญ่" เมื่อสถานการณ์วิกฤติโควิด -19 ยังไม่คลี่คลาย มิหนำซ้ำยังกลายเป็นว่าวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็น "ชนวน" ที่ทำให้ "พรรคร่วมรัฐบาล" อย่าง "ภูมิใจไทย" ประกาศจุดยืนในลักษณะที่เรียกว่า "กดดัน" พรรคใหญ่ อย่าง "พลังประชารัฐ" อย่างชัดเจน
"พรรคภูมิใจไทยมีมติว่าจะดำเนินการ 2 งด คือ งดออกเสียง และงดใช้เสียง งดใช้เสียง คือ วันนี้การอภิปรายวาระที่ 2 สมาชิกพรรคภูมิใจไทยจะไม่ลุกขึ้นใช้เวลาของสภาเพื่ออภิปราย ส่วนขั้นตอนการลงมติทุกมาตรา เราจะงดออกเสียงทุกมาตรา
เหตุผลคือ เรายืนยันตั้งแต่แรกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก แต่การแก้ไขครั้งนี้เกี่ยวกับนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์โดยตรง
พวกเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือแก้ไขได้หรือไม่ได้ แต่ควรให้ประชนชนเลือกว่าควรใช้กติกาในการเลือกผู้แทนแบบใด จึงเป็นที่มาของการงดออกเสียงทั้งในวาระ 2 และ 3"
"ภราดร ปริศนานันทกุล" ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยตัวแทนส.ส.ของพรรค แถลงข่าวแสดงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 ที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันเดียวกัน
แม้ก่อนหน้าที่ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย จะแถลงข่าวประกาศจุดยืนของพรรคต่อการพิจารณาวาระร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ไม่กี่ชั่วโมง " ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา91 จะแถลงข่าว "ยอมถอย"
ด้วยให้การแก้ไขเนื้อหาสาระทั้งหมด 5 ประเด็น คงไว้คือ มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามที่รัฐสภารับหลักการในร่างของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า พรรคภูมิใจไทย ยังไม่ยอมถอย ประกาศใช้วิธี "งดออกเสียง" เพื่อตอบโต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่มีกว่า 50 เสียงนั้นใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ !
เพราะแม้พรรคพลังประชารัฐ ยอมตัด 5ประเด็นที่ประกอบด้วย
1.การตัดทิ้งมาตรา 85 ที่กมธ.ไปเพิ่มเนื้อหาให้กกต.ต้องรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน
2.การตัดทิ้งมาตรา92 ที่กมธ.ไปเพิ่มเรื่องเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส.นั้น ให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และผู้สมัครเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งในรอบใหม่ โดยให้กลับไปใช้เนื้อความเดิมตามมาตรา 92ของรัฐธรรมนูญ ปี2560
3.การตัดทิ้งมาตรา 94 ที่กมธ.ขอให้ยกเลิกเนื้อหารัฐธรรมนูญ ปี2560 มาตรา94 กรณีการเลือกตั้งซ่อมภายหลังพ้น 1ปี ไม่ให้มีผลกระทบกับการคํานวณส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค โดยให้กลับไปยึดเนื้อความเดิมในมาตรา 94 รัฐธรรมนูญ 2560
4.การตัดทิ้งวรรคสาม มาตรา105 ที่กมธ.ขอให้ยกเลิกเนื้อหารัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา105 วรรคสาม กรณีการประกาศเลื่อนผู้มีชื่ออยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ขึ้นมาเป็นส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง
5.การตัดทิ้งบทเฉพาะกาลที่4/5ของกมธ. ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จภายใน 120วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ หากแก้ไขเสร็จไม่ทันให้กกต.มีอำนาจออกหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อใช้บังคับไปพลางก่อน
ทว่า สาระหลักๆ ที่ยังคงทำให้พรรคภูมิใจไทย ยังได้รับผลกระทบ เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ในการเลือกตั้ง ยังคงอยู่ในมาตรา ที่ 83และมาตรา 91 โดยมีการกำหนดรูปแบบองค์ประกอบของส.ส. และรูปแบบการเลือกตั้งด้วยบัตร2ใบ ที่ยังต้องรอ "วัดใจ"พรรคใหญ่ แกนนำรัฐบาลด้วยกันเองว่า จะยอมถอย แล้วเปิดทางให้พรรคภูมิใจไทยไม่เสียเปรียบ จนเสียหายจนเกินไปหรือไม่ !?