เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ใครๆ ก็อยากสุขภาพดี ไม่แก่ง่ายตายยาก ดูอ่อนวัย อายุยืน แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยเชื่อคนเฒ่าคนแก่ที่สอนว่า “กินน้อยตายยาก กินมากตายไว” วันนี้คนจำนวนมากเริ่มเชื่อวิทยาศาสตร์ที่พูดเรื่องเดียวกัน
ก่อนนี้คิดว่า การกินดีอยู่ดีหมายถึงการกินอิ่มนอนอุ่น วันนี้เกิดมีค่านิยมใหม่ว่า อยากอายุยืนให้อด ให้หิว และให้นอนหนาว และคนจำนวนมากก็เริ่มเชื่อเพราะมีคำอธิบายและผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้บอกให้อยู่แบบอดๆ อยากๆ หิวจนสุขภาพทรุดโทรมเพราะขาดสารอาหาร แต่ให้อดอย่างมีวิชาการ
มีคนอย่าง ดร.โยชิโนริ โอสุมิ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 2016 จากการค้นพบเกี่ยวกับกลไกการกินตัวเองของเซลล์ ที่เรียกกันว่า Autophagy (ภาษากรีกแปลว่า “กินตัวเอง”)
Autophagy เป็นการกำจัดเซลล์เก่า เซลล์แก่ที่ “หมดอายุ” เสื่อมสภาพ ที่ก่อให้เกิดการอักเสบและโรคต่างๆ เอาไปรีไซเกิล สร้างเซลล์ใหม่มาทดแทน ป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายต่างๆ อย่างสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน หัวใจ มะเร็ง เบาหวาน
กระบวนการนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาก็จริง แต่จะเกิดมากและมีประสิทธิภาพมากเมื่อมีการอดอาหาร การออกกำลังกาย ในภาวะแบบนี้ร่างกายจะนำเอาโมเลกุลมาใช้ย่อยเพื่อนำไปเป็นพลังงานและองค์ประกอบที่จำเป็นของเซลล์
การที่คนทุกวันนี้กินวันละ 5-6 มื้อ กินจุกกินจิกทั้งวัน ร่างกายก็ต้องทำงานทั้งวันเพื่อย่อยอาหาร ไม่มีเวลาฟื้นฟู ไม่มีพลังงานเหลือเพื่อกระตุ้นให้เกิด Autophagy การกินอาหารเข้าไปมากเรียกร้องให้คนเติบโตตลอดเวลา มีโกรทฮอร์โมนมากเกินไปก็ก่อให้เกิดการผ่าเหล่าผ่ากอ กลายพันธุ์ เซลล์ไม่ดีก็ไม่ถูกกำจัด สั่งสมให้เกิดการอักเสบและโรคต่างๆ
Autophagy ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง ชะลอวัย เป็นหนุ่มเป็นสาวนาน เพราะช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน กำจัดสารพิษ กำจัด “ขยะ” ที่สั่งสมมากทำให้เจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่เป็นกันมากอย่างเบาหวาน Autophagy ควบคุมระดับอินซูลินให้คงที่ตลอดวัน ป้องกันโรคเบาหวาน
Autophagy ช่วยดีท็อกซ์ล้างทำความสะอาดระบบทางเดินอาหาร กำจัดขยะออกไป ทำให้ลำไส้และกระเพาะอาหารได้พักจากการกินอาหาร เมื่อเราอดอาหาร ร่างกายก็จะเริ่มกำจัดของเสีย กำจัดสารพิษ
Autophagy ช่วยลดน้ำหนัก เพราะร่างกายจะไปใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมไว้ ทั้งการอดอาหารและการออกกำลังกายจึงเสริมกันในการชำระ “ส่วนเกิน” และ “ขยะ” ในร่างกาย ที่นอกจากกินไขมันแล้ว ยังกำจัดออกจากร่างกายทางเหงื่อได้อีกด้วย
วิธีการอดอาหารที่ทำให้เกิด Autophagy ที่มีประสิทธิภาพ ที่นิยมกันทั่วโลกวันนี้ คือ การทำการอดเป็นระยะ หรือ IF (Intermittent Fasting) หลักสำคัญ คือ การลดมื้ออาหารลง เพื่อร่างกายจะได้มีเวลาย่อย ฟื้นฟูดูแลตัวเอง ไม่ใช่กินวันละ 5-6 มื้อ ไม่นับที่กินจุกกินจิกอีกต่างหาก
คนส่วนใหญ่กินอาหารเช้า เบรกกาแฟกับขนมผลไม้ อาหารเที่ยง เบรกบ่าย อาหารค่ำ ข้าวต้มรอบดึก หรืออาหารว่างแก้หิว อยู่ดึกๆ ดูทีวีกีฬาก็ต้องมีอะไรขบเคี้ยว แกล้มเหล้าแกล้มเบียร์ กินไม่หยุดแบบนี้ ร่างกายไม่มีเวลาพัก เพราะมีแต่คำสั่งให้ “เติบโต” (grow) ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่โตพอตั้งนานแล้ว
เมืองไทยมี “อาหารข้างถนน” (street food) อันดับหนึ่งของโลก น่าจะทั้งปริมาณและคุณภาพความอร่อย (คงไม่รวมถึงสุขอนามัยด้วยกระมัง) ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่ก็ทำให้เรามีกินได้ตลอดเวลาไม่ว่ากลางวันกลางคืน ยิ่งร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ช.ม. ยิ่งไปหาอะไรมากินได้ทุกเมื่อ อดคิดไม่ได้ว่า การกินทั้งวันทั้งคืนแบบนี้มีส่วนทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ อย่างมะเร็ง เบาหวาน มากมายในบ้านเราหรือไม่
สังคมบริโคและระบบทุนนิยมไม่ปรานีใคร ไม่สนใจว่าคุณจะอ้วน น้ำหนักเกิน เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะกินมากเกินไป ขอให้เพิ่มยอดขายทำกำไรจากการขายอาหาร จึงมีการโฆษณาบ้าเลือดทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางมือถือที่เราดูได้ทั้งวัน และก็ “อยากและหิว” ได้ทั้งวัน
ในยามวิกฤติโควิด มีการวิจัยพบว่า คนในประเทศต่างๆ มีน้ำหนักมากขึ้น เพราะอยู่บ้าน กินมาก ไม่ได้ออกกกำลงกาย หลายคนไม่ติดโควิด แต่ป่วยด้วยโรคอื่นที่มากับการกินไม่หยุด
การทำ IF วันนี้มีข้อมูลมากมายหลายแบหลายวิธี ที่ช่วยให้ทำการอดอาหารอย่างถูกวิธี มีคำแนะนำว่าควรทำแบบต่อเนื่องทุกวัน เช่น แบบ 8-16 ทานสองมื้อระหว่าง 8 ชั่วโมง ไม่ทานอะไรเลย 16 ชั่วโมง (หรือ 6-18) หิวมากก็ดื่มน้ำชา ชาเขียว กาแฟ ก็ช่วยได้ บางคนทานมื้อเช้ากับมื้อเที่ยง งดอาหารค่ำ บางคนงดอาหารเช้าไปทานเที่ยงและค่ำ หรือบางคนทานเพียงมื้อเดียว (OMAD : one meal a day)
นอกจากการอดแบบประจำที่ว่านี้ ยังมีการอดสัปดาห์ละวันเต็มวัน หรือสองวัน เดือนละสองสามวัน แล้วแต่ใครจะชอบหรือได้ศึกษาว่าวิธีไหนเหมาะกับวิถีชีวิตและสุขภาพของตนเอง
เรื่องการอดมีในประเพณีทุกศาสนาและทุกวัฒนธรรมมาหลายพันปีแล้ว คนโบราณไม่ได้กินข้าววันละสามสี่มื้ออย่างวันนี้ แล้วแต่จะหาอาหารได้ บางวันอาจอดทั้งวันก็มี คนก็ไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างทุกวันนี้ ดังที่มีการวิจัยในกลุ่มชนเผ่าเก่าแก่ในอเมริกาและชาวเอสกิโม รวมทั้งปู่ย่าตายายคนเฒ่าคนแก่บ้านเรา
พระภิกษุก็ฉันวันละสองมื้อ บางท่านวันละมื้อ อย่างพระป่า หรือชาวอโศก ก็เห็นสุขภาพดี อายุยืน ถ้าเรากินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน คุณภาพชีวิตน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่