แสงไทย เค้าภูไทย แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลขจำนวนผู้ป่วยใหม่จะลดลงต่อเนื่อง ผกผันกับตัวเลขผู้หายป่วย แต่จากการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ใต้เส้น 20,000 ติดต่อกัน ก็ทำให้ภาคเอกชนมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในไม่ช้า เปิดสัปดาห์นี้เมื่อวันจันทร์จำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่ม 17,491 จากที่ยืนเหนือ 20,000 คน โดยเฉลี่ยต่อวันมา 25 วัน ดัชนีตลาดหุ้นสดใสหลังจากตกจากเส้น 1,600 มานับแต่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ปีนขึ้นเหนือเส้น 20,000 คนต่อวัน ปิดตลาดภาคเช้า + 18 จุด ยอดซื้อขายพุ่งกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท หากตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันยังอยู่ระดับนี้ไปจนสิ้นเดือนสิงหาคม โดยไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากโรงงานและตลาดสด สถานการณ์ระบาดก็จะอยู่ในระดับควบคุมได้ ไม่เกินกลางเดือนกันยายน อันเป็นช่วงที่วัคซีนรุ่นใหม่ๆชนิดใหม่ๆเข้ามานับสิบๆล้านโดส จำนวนผู้หายป่วยจะเพิ่มมากกว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตก็จะลดลง ตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะบ่งชี้ว่า สามารถควบคุมการระบาดได้ก็คือ จำนวนผู้ป่วยใหม่ จำนวนผู้หายป่วย และจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวัน ถ้าสามารถกดตัวเลขผู้ป่วยใหม่ให้ต่ำกว่า 5,000 คน ผู้หายป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 30,000 คนขึ้นไป ผู้เสียชีวิตไม่เกิน 50 คนต่อวัน การคลายล็อกดาวน์ก็จะสามารถทำได้ไม่ต่ำกว่า 70% ของมาตรการที่ดำเนินอยู่ อย่างไรก็ดี ที่ยังกังวลอยู่ก็คือ ตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาจาก ศบค.ดังกล่าว เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ? เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาหลายท่านคำนวณว่า น่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือตกสำรวจจากการที่ไม่มีการตรวจเชิงรุกอยู่ถึง 300,000 ราย ถ้าสมมติฐานนี้เป็นจริง ผู้ติดเชื้อ 300,000 คนนี้จะสามารถ แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆได้ในอัตราส่วน 1:8 หรือ 2.8 ล้านคนทีเดียว จึงไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจริงหรือตัวเลขลวง ทางที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันส่วนบุคคล คือประชาชน ไม่ว่าจะคนไทยหรือแรงงานต่างด้าว ยังจะต้องอยู่ภายใต้กฎเหล็กด้านการป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ การสรวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือหรือชโลมเจลฆ่าเชื้อที่มือบ่อยๆ สแกนอุณหภูมิ ไม่ไปอยู่ในสถานที่ปิด เช่นห้องปรับอากาศ สถานบริการที่ติดเครื่องปรับอากาศ ห้องอับคับแคบ ที่สำคัญที่สุด ออกจากบ้านให้น้อยที่สุดแม้มาตรการล็อกดาวน์ของทางการจะผ่อนคลายก็ตาม เพราะแม้วัคซีนจะเป็นตัวจำกัดพื้นที่แพร่ระบาด แต่ก็วางใจไม่ได้กับการกลายพันธุ์ของไวรัส ไวรัสโควิด-19 มีการแตกพันธุ์หรือผ่าเหล่าทุกๆ 3 สัปดาห์ สายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น มักจะมีฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิม และดื้อวัคซีนรุ่นเก่าๆ แม้จะมีการค้นคว้าวิจัยวัคซีนรุ่นใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าวัคซีนรุ่นเก่า แต่วัคซีนแต่ละชนิดต้องใช้เวลาทดลองในคน 3 เฟส แต่ละเฟสกินเวลาเป็นเดือนๆ วัคซีนจึงมักจะตามหลังการกลายพันธุ์ของไวรัสเสมอ การรอแต่อาศัยวัคซีนเข้ามากระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อสร้างภูมิออกมากำจัดไวรัสเพียงอย่างเดียวจึงไม่ช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างเด็ดขาด แต่ก่อนเชื่อกันว่า ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วสามารถลดการติดเชื้อหรือติดเชื้อก็ไม่รุนแรง หายป่วยได้ระยะเวลาสั้น จนไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ แต่วันนี้ ผู้ป่วยใหม่กว่า 92% ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา วัคซีนที่ฉีดไป 2 โดสเอาไม่อยู่ ต้องบูสต์เข็มที่สาม หรือไขว้ชนิด ซึ่งก็ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า จะมีภูมิสูงพอจะสู้ไวรัสได้ หรือภูมิที่เกิดขึ้นจะมีอยู่นานแค่ไหน การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนครั้งฉีดวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันชี้ว่า มนุษย์ทั่วโลกอาจจะต้องรับวัคซีนต้านโควิดทุกๆ 6 เดือน คงไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ ที่เคยระบาดแบบโควิด-19 นี้ คร่าชีวิตชาวโลกไปนับล้านๆศพ กว่าจะมีการค้นพบวัคซีนที่จะกระตุ้นภูมิต้านทานออกมาควบคุมมันได้เด็ดขาด ก็หลายปีต่อมา โดยกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้สูงวัย ยังต้องฉีดซ้ำทุกๆปี ไวรัสโควิดก็ไม่ต่างกัน จะอยู่กับโลกแบบเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่หรือมาลาเรีย ที่มีวัคซีนควบคุมอยู่ตลอดไป อาจจะอยู่ร่วมกันไปจนกว่าจะถึงวันสิ้นโลกไปด้วยกัน แต่ก็ไม่แน่นัก ยุคโลกล้านปี อุกาบาตถล่มโลก ไดโนเสาร์เต่าล้านปีตายกันหมด มนุษย์ตัวเล็กกว่าเป็นร้อยเท่ากลับอยู่รอด โลกาวิบัติครั้งใหม่ มนุษย์อาจจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ แต่ไวรัสอาจจะยังอยู่รอดได้ ในทำนองเดียวกัน