การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 โดยเป็นร่างฉบับแก้ไขฯที่เสนอโดย "พรรคประชาธิปัตย์" ที่จะเริ่มเปิดฉากขึ้นวันนี้ ไปจนถึงวันที่ 25 ส.ค.64 จะสะดุดหรือไม่ หรือจะกลายเป็น "ชนวน" ที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ร้าวลึกให้เกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลตามมาหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องเกาะติด ดูเกมกันยาวๆ แต่ที่แน่ๆ ดูเหมือนว่า สำหรับ "พรรคก้าวไกล" แล้ว สถานการณ์เช่นนี้กำลังกดดัน พรรคอย่างหนัก เพราะหากไม่สามารถ "สกัด" การเดินหน้าเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับเพิ่มเติม ฉบับดังกล่าวนี้ไปได้ ย่อมจะหมายความว่า "โอกาส" ในสังเวียนการเลือกตั้ง สำหรับพรรคก้าวไกล อาจเหลือน้อยลง มีความชัดเจนตั้งแต่ก่อนวันประชุมร่วมรัฐสภา วันนี้ (24 ส.ค.) แล้วว่า พรรคก้าวไกล โดย "ธีรัจชัย พันธุมาศ" ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เกาะติดปมประเด็นว่าด้วยการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ มาอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกว่า "กัดไม่ปล่อย" แต่เมื่อพรรคก้าวไกล ไม่อาจต้านทาน "ฝ่ายรัฐบาล" ได้ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงยังเหลือโอกาสที่จะใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อช่วยแก้ปัญหา โดยวันนี้ พรรคก้าวไกล เตรียมยื่นญัตติด่วน ถึงประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุวาระให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาโหวตตัดสินว่า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญแปรญัตตินอกเหนือจากที่รับหลักการมาในวาระที่ 1 ได้หรือไม่ ขณะที่ทางด้าน "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มั่นใจว่าจะไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสะดุด เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรขัดต่อ "ข้อบังคับของรัฐสภา" แต่ยินดีสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเสนอญัตติด่วน เพื่อที่จะได้เดินหน้ากันต่อ ปัญหาข้อใหญ่ที่กำลังจะกลายเป็น "เงื่อนตาย" ที่ทำให้พรรคก้าวไกล ส่อแววว่า จะอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "แพ้ตั้งแต่ยังไม่ลงสนาม" คือการเสนอในม.83 ได้เสนอให้มีส.ส.แบ่งเขต 400 เขต และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ100 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่รูปแบบ "เยอรมันโมเดล" ตามที่พรรคก้าวไกล เสนอและเรียกร้องมาโดยตลอด เพราะอย่าลืมว่าสูตรเยอรมันโมเดลนั้นคือการนำคะแนนของส.ส.โดยใช้ "คะแนนนิยม" ของ "กระแสพรรค" มาคำนวณ โดยสูตรนี้เคยทำให้ "พรรคอนาคตใหม่" ในฐานะ "พรรคแม่" ของ พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงท่วมท้น กวาดส.ส.เข้าสภาฯ มาได้ถึง 81 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งถือเป็น "ปรากฎการณ์ใหม่" สำหรับพรรคน้องใหม่ พรรคหน้าใหม่ที่สามารถใช้ "กระแสพรรค" กระแสของตัว "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ทำให้สนามการเมืองต้องทึ่งกับ พรรคอนาคตใหม่ กันมาแล้ว และแม้ยามนี้ หัวหน้าพรรคจะไม่ใช่ ธนาธร หากแต่เป็น "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แต่พวกเขามั่นใจว่าด้วยภาพลักษณ์ และกระแสของพิธา เมื่อผบวกเข้ากับ ความนิยมเดิมที่ผู้คนมีต่อธนาธร ย่อมจะทำให้พรรคก้าวไกล สามารถกลับเข้าสภาฯได้อย่างงดงามอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งในปี 2566 หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม การดิ้นสู้ของพรรคก้าวไกล ครั้งนี้กำลัง "สวนทาง" กับ "ความต้องการ" ของพรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ อย่างสิ้นเชิง เพราะสูตรการใช้บัตรเลือกตั้ง 2ใบ ประกอบกับการเพิ่มจำนวนส.ส.เขต จากปัจจุบัน 350 คนไปสู่ 400 คนและให้มีปาร์ตี้ลิสต์ 100คนมีแต่จะทำให้พรรคขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งกำลังคนและมี "นโยบาย" ที่สามารถ "ขายได้" มีชัยไปล่วงหน้า ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกล จึงต้องดิ้นสู้เพื่อสกัดเกมแก้รัฐธรรมนูญ อย่างสุดตัว !