"แผนการเล่น" จำต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ไม่สามารถยึดถือ "ตายตัว" ไปได้ตลอด หากพบว่าหนทางที่กำลังเดินอยู่นั้น กำลัง "เสีย" มากกว่า "ได้" ! ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะพบว่า ทั้งฝ่าย "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" และ "ผู้ชุมนุม" ต่างพยายามปรับยุทธวิธี เพื่อลดความเสียหายไปพร้อมๆกับการได้ประโยชน์ให้มากที่สุด การชุมนุมของ "ม็อบราษฎร" วันนี้ดูเหมือนว่าจะเหลือเพียง "ข้อเรียกร้อง" เรื่องเดียว นั่นคือ "ประยุทธ์ ออกไป" ทำอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นไปจากเก้าอี้ "ผู้นำรัฐบาล" ให้ได้เท่านั้นเป็นพอ ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทบไม่มีหยิบยกขึ้นมาสร้างน้ำหนักในการเคลื่อนไหวชุมนุมกันอีกต่อไป เพราะ "กุนซือ" ที่อยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุมประเมินแล้วพบว่า หากยังดึงดัน ชูประเด็นล่อแหลมที่ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันต่อไป จึงยิ่งกลายเป็น "ข้อจำกัด" สำหรับ "แนวร่วม" ที่ต่อต้านนายกฯประยุทธ์ ยากที่จะกระโดดเข้ามาร่วม ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในระยะหลังๆ เมื่อม็อบราษฎร เว้นวรรคไม่ชูประเด็น "ปฏิรูปสถาบัน" บรรดา "คนเสื้อแดง" ทยอยเข้ามาร่วมกันอย่างคึกคัก การชุมนุมของม็อบราษฎร และแนวร่วมที่นัดหมายทำกิจกรรมชนิดรายวัน ที่เก่า เวลาเดิม ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือการกลยุทธ์ "โลกล้อมไทย" ส่งตัวแทนไปยื่นข้อเรียกร้องยังองค์กรต่างประเทศ ทั้ง องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จนถึงสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า ในการชุมนุมนั้นเกิดความรุนแรง มีผู้ชุมนุมหลายรายถูกตรวจค้น และจับกุม ด้วยเหตุที่พกพาอาวุธ ประกอบกับมีการเผาทำลายป้อมตำรวจ ขณะเดียวกันยังพบว่ามีประชาชนในบริเวณใกล้เคียงกับที่ชุมนุมทั้งที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสามเหลี่ยมดินแดงได้รับผลกระทบจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกับผู้ชุมนุม ปรากฎว่ายังมีประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในแฟลตดินแดง ออกมาคัดค้านแสดงความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง เข้าสลายการชุมนุม จนทำให้ผู้พักอาศัยได้รับผลกระทบ แน่นอนว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ เท่ากับว่ามีเสียงต่อต้านจากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในแฟลตดินแดง มีปฏิกริยากับเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนี้ยังเตรียมที่จะพากันมาร้องนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นสเต็ปต่อมา จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมีการปรับเปลี่ยนปฏิบัติการ เพื่อลดความกดดัน และที่สำคัญไปกว่านั้น ยังจะกลายเป็น "ช่องโหว่" ที่ "ฝ่ายการเมือง" ตรงข้ามกับรัฐบาล จะฉวยโอกาส ยามนี้ เข้ามาแทรกแซง จนทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง "ประชาชน" กับ "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" หมายความว่า จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลอยู่ในสภาพที่เรียกว่า "ตกเป็นรอง" มากขึ้น ! ขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่ฝ่ายผู้ชุมนุมไปจนถึง "ผู้อยู่เบื้องหลัง" เองก็ต้องประเมินในช็อตต่อไปเช่นกัน ว่าการชุมนุมในลักษณะ สร้างความปั่นป่วน ก่อกวน มีการพกพาอาวุธเข้าพื้นที่ชุมนุม ไปจนถึงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจนจับกุมต้นตอที่ส่งต่ออาวุธให้กับเยาวชน ที่มาร่วมชุมนุมด้วยความคึกคะนองไม่เว้นแต่ละวันนั้นจะ "ยืนระยะ" ไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทุกกิจกรรมย่อมมีต้นทุน ทั้งกำลังคน และ "น้ำเลี้ยง" ที่ต้องจ่ายกันลงมา ขณะเดียวกันยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อไม่ให้รัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งหลักได้ทัน !