ทองแถม นาถจำนง
Objective กับ Subjective คำศัพท์นี้ใช้กันในหลายศาสตร์ ความหมายทั่วไปก็อย่างหนึ่ง ความหมายลึก ๆ ในแต่ละศาสตร์ ก็จะขยายอมความกว้างและลึกออกไปอีกมาก
วงการที่เรียกกันว่า “ปัญญาชน” สมัยหนึ่ง อาจจะใช้คำนี้กันมาก นำมาพูดกันเหมือนเป็นภาษาไทย เพราะเมื่อใช้คำศัพท์บัญญัติมาพูดกัน บางทีก็ทำให้งงมากกว่าพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย
สำหรับตัวข้าพเจ้า ที่เคยชินกับคำศัพท์ฝ่ายซ้าย (มาร์กซิสต์)สมัยสิบสี่ตุลา เคยชิ้นกับการใช้คำว่า “ภาววิสัย – ออพเจ็คตีฟ” กับ “อัตวิสัย - ซับเจ็คตีฟ” (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องทางวิชาการหรือเปล่า)
ก้เข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า ถ้าตัวเรา “คิด-แล้วเขียน” ออกมาตามความรู้สึกตามอารมณ์ ตามการวินิจฉัย ของ “ตนเอง” คนเดียว ก็คือการคิด การเขียน อย่างอัตวิสัย
ถ้าตัวเรา “คิด-แล้วเขียน” ออกมา โดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชการ เป็นความเชื่อที่สังคมให้การยอมรับทางวิชาการ ก็คือการคิด การเขียน อย่างภาววิสัย
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยวิจารณ์งานเขียนของตนเองว่า มีทั้งที่เขียนแบบออพเจ็คตีฟ และเขียนแบบซับเจ็คตีฟ
ลองค้นหาคำอิบายในกูเกิ้ล พบคำอิบายที่ชอบอยู่ในเว็บ http://sawarino.blogspot.com/2011/07/objective-subjective.html ดังต่อไปนี้
“Objective แปลโดย ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน นั้น มีหลายความหมายได้แก่ เชิงวัตถุวิสัย, วัตถุประสงค์ หรือ ปรนัย ส่วนSubjective นั้นแปลว่า ความรู้สึกแห่งตน, เชิงจิตวิสัย หรือ อัตนัย
แค่เพียงความหมายก็น่าจะพอสรุปได้ว่า Subjective นั้นต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นตัวตนหรือส่วนบุคคล (อัต-) นั่นหมายถึงบริบทของคำนี้ ไม่อาจสรุปหรือประเมินได้อย่างเที่ยงตรง (ไม่เสถียร) หรือได้คำตอบเหมือนเดิมทุกครั้งในทุกๆการวัด เนื่องจากขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความรู้ ความชำนาญหรือเกณฑ์ของแต่ละบุคคลที่ใช้ในการวัด ดังเช่น ตัวอย่างความหมายของ Objective data และ Subjective data ที่มักพบเสมอในเรื่อง การตัดสินใจแบบหลายเกณฑ์ (Multi-Criteria Decision)
ดังนั้น ผมอาจสรุปได้ว่า Objective นั้นมีความเป็นสากล จริงแท้ เที่ยงตรง มากกว่า Subjective ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนบุคคล ครับ”
อาจารย์หม่อม ท่านกล่าวถึงเรื่องการเขียนแบบออพเจ็คตีฟและแบบซับเจ็คตีฟ ไว้ในการปาฐกถาหัวข้อ “เมื่อข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี” ของสมาคนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2522
โดยในช่วงการตอบปัญหาหลังปาฐกถา มีผู้ถามขึ้นว่า
“เคยอ่านบทความของอาจารย์สิบปีมาแล้ว ซึ่งเขียนเกี่ยวกับซัปเจ็คตีฟกับออพเจ็คตีฟไว้ คือการมองปัญหาหรือแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง การมองผู้หยิง ถ้าผู้หญิงเกิดหกล้ม บางคนอจด่าว่าซุ่มว่าม บางคนก้อาจจะมองว่า สวยดี ขึ้นอยู่กับการมอง อาจารย์เองก็มีความสามารถในการทำให้คนเชื่อถือคล้อยตาม (คือคอนวินซ์คนสูง)
อันตรายของคนที่รู้ปรัชญาซับเจ็คตีฟกับออพเจ็คตีฟคือ ถ้าไม่มีใจเป็นธรรมแล้ว จะแก้ปัญหาเข้าข้างตัวเองได้ เพราะเราสามารถคอนวินซ์คนได้
ท่านเคยไหมว่า ตอนเป็นนายกฯ หรือตอนเขียนบทความ รู้ไหมว่า บางทีที่เขียนไปก้ไม่ถูกเท่าไหร่นัก ขอตัวอย่าง”
อาจารย์หม่อมตอบว่า
“บ่อยซิครับ โดยเฉพาะในการเขียนบทความหนังสือพิมพ์ ในการเป็นนายกรัฐมนตรี การแก้ปัญหาไม่กล้าไปซีบเจ็คตีฟหรอก ไม่กล้าไปแก้ปัญหาเข้าตัว หรือเอาประโยชน์เอาตัวเป็นที่ตั้ง เพราะรู้ว่าเราทำงานเพื่อคนอื่น เราทำงานเพื่อส่วนรวม แล้วถ้าไปทำอย่างนั้นแล้ว ก็จะเกิดผลเสียหายแก่ตำแหน่ง ฐานะของตน ใครเขาก็มองเห็น นายกฯเห็นแก่ตัว ทำอะไรเข้าตัวนี่ ใครเขาจะไปยอมกัน
แต่การเขียนบทความหนังสือพิมพ์นี่ มันไม่ได้รับผิดชอบอะไรขนาดนั้น ส่วนใหญ่วันไหนอารมณ์ดี ๆ ก็เขียนออพเจ้คตีฟนี่แหละ ก็เขียนเพื่อประโยชน์คนอื่น ไม่ได้เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่วันไหนมีคนมายั่วโมโหเข้า ก็ซีบเจ็คตีฟอย่างยิ่ง เขียนด่าเล่นเฉย ๆ อย่างน้นแหละ ให้เราสบายใจ ใครจะทำอะไรก็เป็นอย่างนี้แหละ ก็คนนี่ ผมก็คนหนังสือพิมพ์เหมือนกัน จะมาเอาอะไรกับผม เวลาเป็นนายกฯ ด่าได้ด่าเอา ผมไม่ได้เป็นนายกฯ ผมก้ด่าคนอื่นมั่ง ผมก็ว่าเป็นธรรมแล้วนี่
อาชีพหนังสือพิมพ์นี่สะดวกครับ นึกจะด่าใครก็ด่าได้ พอเขาเลานงานก็ว่า อ้าว ๆ ไม่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ สะดวกที่สุด
นี่ก็พูดอย่างกันเอง แต่ถ้าไปพูดที่อื่นหรือจะเขียนลงไปก็ว่า โอย ผมทำทีไรออพเจ็คตีฟทุกที ผมไม่เคยเอาเนื้อเอาตัวเข้าไปเกี่ยวเลย เขียนเพื่อประโยน์ส่วนรวมเคร่งครัด หวังประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมก็ต้องพูดอย่างนั้น ทุกวันนี้ที่ผมพูดกับใครต่อใครในโลกนี้ ผมรู้สึกว่าผมสวดมนต์ ผมท่องเจตนา 12 ตำนานออกมาจากหัวใจ คือเขาอยากให้ผมพูดอย่างไร ผมก็พูดอย่างนั้น ใจจริงผมจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ครับ มันเป็นการสวดมนต์ไปหมดแล้ว ทุกวันนี้ ถ้าไม่ยอมสวดมนต์ตามเขาบ้าง ก้อยู่ไม่ได้ ไม่ว่าใครทั้งนั้น” (จากหนังสือ “คึกฤทธิ์ถอดหัวโขน” สำนักพิมพ์เบญจมิตร พ.ศ. 2523 หน้า 68-69)
พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือความรู้ทุกเรื่องนั้น มันก็เริ่มมาจากความรู้-ความคิด แบบ ซับเจ้คตีฟ หรือของปัจเจกก่อน ต่อมาจึงได้รับการยอมรับเป็นออพเจ็คตีฟ ซึ่งมันจ้ะองผ่านกระบวนการที่ยาวนาน
จุดอ่อนของมนุษย์ก็คือ ง่ายที่จะหลงนึกว่า ความคิดซับเจ็คตีฟของตนนั้นคือสัจธรรมออพเจ็คตีฟไปแล้ว
การแสดงความคิดเห็นกันในโซเชีบลมีเดียที่ก่อปัญหากันทุกวันนี้ ก็มาจากจุดอ่อนนี้นั่นเอง
ดังนั้นพึงระวัง อย่าหลงว่าความเห็นของตนถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว
คิดอย่างนั้น นำทุกข์มาให้นะครับ