ณรงค์ ใจหาญ
การทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม แม้ในอดีตจะเป็นสิ่งชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การทรมานเพื่อให้รับสารภาพ หรือการลงโทษจำคุกให้ได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจนทำให้ผู้ต้องโทษได้รับความทุกข์อย่างสาหัส เพื่อก่อให้เกิดความเข็ดหลาบไม่กลับไปฝ่าฝืนความผิดอาญาอีก แต่ในยุคปัจจุบันเมื่อแนวความคิดด้านสิทธิมนุษยชนก่อกำเนิดและเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล และในจิตสำนึกของคนไทย จนมีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ รวมถึง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 28 วรรคสี่ที่ว่า การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้
หลักการห้ามมิให้ทรมานหรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมนั้น มีบทกำหนดไว้ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อบทที่ 7 และ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ข้อบทที่ 1 ซึ่งสนธิสัญญาทั้งสองนี้ ประเทศไทยให้การรับรองและยอมรับที่จะถือปฏิบัติตามข้อบทดังกล่าวเพียงแต่ว่า ยังไม่ได้กำหนดความผิดอาญาในความผิดฐานกระทำทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมไว้เป็นฐานความผิดโดยเฉพาะ ข้อห้ามมิให้ทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายและถือเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าจะเป็นกรณีที่ประเทศภาคีจะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสงครามก็ตาม ดังนั้น ในกรณีปกติ หรือในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยหรือรักษาความมั่นคงยังคงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ล่วงละเมิดต่อข้อบทตามอนุสัญญา CAT ดังกล่าว
ขอบเขตของการทรมานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เน้นการที่จะป้องกันและลงโทษเจ้าพนักงานที่เจตนากระทำทรมานหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศ หรือคำรับสารภาพ ซึ่งสภาพบังคับของการฝ่าฝืนคือ เจ้าพนักงานดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษเป็นคดีอาญาซึ่งมีโทษสูง อย่างน้อยต้องรับโทษขั้นต่ำสี่ปี ส่วนขั้นสูงควรเป็นสิบห้าปีขึ้นไป ทั้งนี้เพราะเป็นการกระทำที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และกระทบต่อสิทธิในร่างกาย จึงควรได้รับการลงโทษหนักกว่าความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น อีกทั้งกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานมีความรับผิดเช่นเดียวกัน หากรู้ว่ามีการกระทำทรมานแล้วไม่ห้ามปราบหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทรมาน
ส่วนที่เป็นการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมนั้น มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้ต้องโทษเป็นหลัก ที่จะไม่ถูกลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ซึ่งหมายความว่าการลงโทษจะต้องได้รับการเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด แม้ว่าเป็นการลงโทษประหารชีวิต ซึ่งในบางประเทศได้ยกเลิกไปแล้วเพราะเห็นว่า เป็นโทษที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐไม่อาจลงโทษโดยทำลายชีวิตแก่นักโทษได้ แต่ในบางประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยังคงถือว่า โทษประหารชีวิตยังคงเป็นโทษที่ไม่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม อย่างไรก็ดีในโทษอื่นๆ เช่นโทษจำคุก ก็ต้องมีลักษณะไม่ทรมานหรือทารุณโหดร้าย เช่น ต้องจัดการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในลักษณะที่ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ สภาพของผู้ต้องขัง การลงโทษทางวินัยโดยการเฆี่ยน หรือการเปิดโอกาสให้ติดต่อกับโลกภายนอก การให้อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม มีความจำเป็นต้องได้มาตรฐานและไม่ทำให้ผู้ต้องขังได้รับการทรมานหรือถูกลงโทษในลักษณะทารุณโหดร้าย เช่นให้อยู่ในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็น หรือรับอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะจนทำให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือขังในห้องมืด ทำให้เกิดสภาวะจิตใจที่ซึมเศร้า เป็นต้น
การทรมานหรือลงโทษที่โหดร้ายนี้ มิได้จำกัดในการควบคุมของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ ศาล หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เท่านั้น แต่ในการควบคุมกรณีอื่นๆ เช่นการควบคุมผู้ต้องกักในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมือง การดูแลบ้านพักเด็ก หรือสถานพินิจ ก็ยังต้องปฏิบัติตามหลักการนี้ ในบางกรณีได้ขยายไปควบคุมการทำโทษทางวินัยของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือนักเรียนในโรงเรียน เพื่อจำกัดอำนาจควบคุมและการลงโทษผู้กระทำความผิดวินัยมิให้ต้องถูกทรมานหรือถูกลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ดังเช่น กระทรวงศึกษาธิการได้มีระเบียบห้ามการลงโทษนักเรียนที่ไม่ส่งการบ้านหรือทำผิดวินัยโดยการเฆี่ยน เป็นต้น
การออกระเบียบหรือออกกฎหมายมาลงโทษผู้กระทำการทรมาน ถือเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะผลักดันโดยฝ่ายนิติบัญญัติให้ตรากฎหมายซึ่งมีข้อห้ามและฐานความผิดออกมาให้ชัดโดยเร็วเพื่อผลในการปราบปรามมิให้มีการทรมานอันขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 วรรคสี่อีกด้วย รวมถึงการที่จะมีมาตรการป้องกัน และเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการทรมานหรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม มิฉะนั้น การบังคับให้เป็นไปตามข้อบทดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้นจริง และเท่ากับว่าเป็นเพียงกำหนดไว้เป็นตัวอักษรเพื่อทำให้ดูดีในสายตาประชาชน และสายตาระหว่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามที่เขียนห้ามไว้
กรณีศึกษาหลายคดี ที่เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นกรณีที่ประเทศไทยต้องให้คำตอบแก่องค์กรสิทธิมนุษยชนในทุกเวทีระดับโลก เช่น การกระทำทรมานผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน หรือบางกรณีอาจทำให้เสียชีวิต หรือทำให้หายสาบสูญ โดยเฉพาะในการปราบปรามการก่อการร้ายในภาคใต้ หรือการลงโทษแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำที่ใช้เครื่องพันธนาการ หรือมีการตายในระหว่างควบคุมของเจ้าพนักงานต่างๆ ทำให้เป็นที่สงสัยว่าจะเข้าข่ายต้องห้ามตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ หรือไม่ และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อีกทั้งมีข้อร้องเรียนออกสู่เวทีโลกว่ามีการซ้อมทรมานอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงต้องได้รับการตรวจสอบและวินิจฉัยว่าความจริงเป็นอย่างไร ควบคู่กับการป้องกันการเกิดการทรมานอย่างจริงจังโดยให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ตลอดจนติดตามการทำงานของเจ้าพนักงานมิให้มีการทรมานหรือปกปิดผู้บังคับบัญชามิให้รู้ว่าได้กระทำทรมานแก่ผู้อยู่ในความควบคุม ด้วยเหตุนี้ บทบาทของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในการสั่งการและกำชับมิให้มีการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงลงโทษผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด หากเกิดการทรมานขึ้น โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือเกรงว่า จะก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดี เพราะต้องแยกว่า การกระทำทรมานนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานหรือสถาบันที่ผู้นั้นสังกัด แต่ถ้ามีการปกปิดหรือปกป้องผู้ที่กระทำทรมานหรือแก้ตัวให้แล้ว ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียงและลดศรัทธาของการทำงานในหน่วยงานนั้นทั้งระบบ ในทำนองที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียวแต่เหม็นไปทั้งข้อง”
ในวาระที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน และประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติตามหลักสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ห้ามการทรมาน ทารุณกรรม และการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม จึงน่าจะเป็นงานที่รัฐบาลผลักดันเป็นโครงการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนัก แก่เจ้าพนักงาน ประชาชน รวมถึงกำชับให้หน่วยงานและเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานได้ให้ความสำคัญและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และจริงจัง จริงใจ ต่อไป