การปรากฎตัวของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 ที่ผ่านมา โดยยกคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ใน Home Isolation และการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้สร้างความน่าสนใจขึ้นมาทันที ว่าแท้จริงแล้วตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การที่นายกฯเลือกที่จะ "เลี่ยง" ปะทะกับ "ทุกกระแส" นั้นเป็นเพราะ "ถอดใจ" หรือแค่หลบเข้าถ้ำเพื่อเตรียมเดินหน้าต่อ ! หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยพื้นที่สื่อให้ "โทนี วู๊ดซัม" ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯใช้เวทีคลับเฮ้าส์ โจมตี เย้ยเยาะถึงการบริหารงานมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจงานในภาคสนาม และระบุว่าไม่ได้พบผู้สื่อข่าวกันมานานนับเดือน เป็นเพราะตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองเวิร์ค ฟอร์ม โฮม อยู่ที่บ้าน จะมีเข้าทำเนียบรัฐบาลบ้างก็ถือว่าน้อยครั้งมาก เพื่อทำตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกลายเป็น ประเด็นที่ทำให้ทักษิณ หยิบไปวิพากษ์วิจารณ์ในคลับเฮ้าส์ที่ผ่านมาว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ทำไม นายกฯประยุทธ์ ยังทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ลงพื้นที่บ้าง "สถานการณ์วัคซีนก็เยอะ แต่เราไม่ท้อแท้หรอก เราจะร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด ขอบคุณบุคลากรทุกคน ทั้งในส่วนของรัฐบาล กระทรวง รัฐมนตรี และรองนายกฯทุกท่าน รัฐบาลต้องมองไปข้างหน้าหลายวันที่ผ่านมาผมอาจจะไม่ได้ออกมาพบสื่อ เพราะผมก็ต้องแก้ปัญหาอย่างอื่นไปด้วย ไม่ได้แก้ปัญหาโควิคอย่างเดียว ยังมีปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ผมก็ต้องมีสมาธิในการทำงาน และวันนี้ก็อยากมาดูความก้าวหน้า และรับเรื่องที่ต้องการให้สนับสนุนในระยะต่อไป ผมก็รับเรื่องทั้งหมด วันนี้เราจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศไทยอยู่กับโควิคให้ได้ด้วยความสงบ ถ้าเราไม่สงบมันก็อยู่ไม่ได้ มันจะวุ่นวายร้อนรุ่มไปหมด และทำให้เป็นปัญหาในการทำงาน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภาย ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แน่นอนว่าในห้วงสถานการณ์ที่รัฐบาลเองดูเหมือนว่าจะ "เป็นรอง" ต้องเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะยิ่งเมื่อใดที่ "วิกฤติโควิด" ยังไม่คลี่คลาย จะยิ่งกลายเป็น "ชนวน" ที่ทำให้ การรุกไล่ "ทางการเมือง" ของฝ่ายตรงข้าม มีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่บัดนี้รัฐบาลไม่เพียงแต่จะต้องรับมือกับ "ม็อบรายวัน" เท่านั้นหากแต่ยังมีโจทย์ข้อใหญ่ ที่ว่า จะทำอย่างไร "ความรุนแรง" และ "ความสูญเสีย" ในระหว่างการปะทะกันเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม จะไม่บานปลาย จนนำไปสู่ความวุ่นวายกลางเมือง! เมื่อสถานการณ์รอบด้านไม่เอื้ออำนวย เมื่อผู้นำรัฐบาลไม่อยู่ในสถานะที่ "เป็นต่อ" การเปิดหน้าออกมารับทุก "แรงปะทะ" โดยใช่เหตุ คงไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุ สมผลนัก เว้นแต่เมื่อใดที่พล.อ.ประยุทธ์ จะมั่นใจและประเมินได้ชัดเจนแล้วว่าจะต้องชนะในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในสภาฯ ไปจนถึงการปิดเกม "ม็อบ" บนท้องถนน เมื่อถึงเวลานั้นคงไม่ช้า ไม่นานเกินไป !