สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 0.7-1.2% (ค่ากลางที่ 1%) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงมาขยายตัวได้เพียง 1.1% การบริโภคภาครัฐลดลงอยู่ที่ 4.3% การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการส่งออกที่ยังคงอยู่ในระดับดี ซึ่งคาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 16.3% ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นโดยคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศลดเหลือ 1.5 แสนคน จากเดิม 5 แสนคน ทั้งนี้หากไม่สามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้ในช่วงไตรมาส 3 และยังไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4 รวมถึงการระบาดในต่างประเทศมีความรุนแรงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะเติบโตต่ำกว่า 0.7% ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาท นฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด โดยอาการแรก คือ หลุมรายได้ ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท อาการที่สอง คือการจ้างงานกระทบรุนแรง โดยเฉพาะในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น โดยกลับไปยังภาคเกษตร ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคน อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกมีจ้างงานเพียง 8% เท่านั้น อาการที่สี่ เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชียอยู่ที่ 11.5% ของ จีดีพี ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้เสนอให้ภาครัฐกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้จีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่ม ในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ จีดีพีในปี 2567 และจะลดลงค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว ข้อเสนอของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศได้รับเสียงขานรับจากภาครเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย สภาหอการค้าไทย โดยที่ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนได้ออกมาคาดการณ์ว่าหากมีการล็อกดาวน์ยาวถึงสิ้นเดือนกันยายน มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเสียหาย 1 ล้านลานบาท อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ เมื่อมีเสียงมาจากธนาคารกลาง และภาคเอกชน เชื่อว่ารัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหย้าทีมเศรษฐกิจ ย่อมจะไม่ปล่อยปผ่าน เพราะตราบใดที่วัคซีนยังไม่สามารถฉีดได้ครอบคลุม โอกาสเสี่ยงก็ยังมีสูง แนวโน้มในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆก็จะต้องยืดระยะเวลาออกไป การเติมเงินเข้ามาช่วยกู้วิกฤติย่อมจะเป็นอีกหนึ่งทางออกสำคัญ เพียงแต่ในภาวะที่ความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบ การบริหารจัดการจึงต้องระมัดระวังให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ให้กลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ