องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันมนุษยธรรมโลก” เพื่อเป็นการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมการระเบิดที่โรงแรมคาแนล ในกรุงแบกแดด ทำให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ 22 คนต้องเสียชีวิต รวมถึงผู้แทนเลขาธิการพิเศษขององค์การสหประชาชาติในอิรัก นายเซอร์จิโอ วีอีรา เดอมอลโลและมีผู้คนได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 150 คน วันนี้จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิต หรือผู้ที่เสียสละในการทำงานเพื่อมนุษยธรรม และยังคงนำความช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์ให้กับคนนับล้าน นอกจากนี้เพื่อสร้างการตระหนักถึงความต้องการการสนับสนุนการทำงานด้านมนุษยธรรมทั่วโลก และความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือเหล่านั้นเพียงพอ คำว่า “มนุษยธรรม” หมายถึง ธรรมของคน ธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มีเมตตากรุณาเป็นต้น ในห้วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติทางการเมืองมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริบทของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อมนุษยธรรม สงครามแบ่งขั้วความคิดทางคิดทางการเมือง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่หลายครั้งต้องกลับมาตั้งคำถามเรื่องมนุษยธรรมของคนไทยในปัจจุบัน เราเริ่มขาดความเมตตาให้กับคนที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง ญาติและเพื่อนฝูง ที่สำคัญ เมื่อคลื่นมรสุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาทับถม แรงกระแทกของโควิด-19 ที่มีความรุนแรง เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและซ้ำเติมวิกฤติทางการเมืองให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และสั่นคลอนมนุษยธรรมของคนไทยมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ แม้หากมองเฉพาะกรณีของโควิด-19 จะพบปรากฏการณ์ที่ท้าทายด้านมนุษยธรรมทั้งปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการรักษา การเข้าถึงวัคซีน การเอารัดเอาเปรียบแสวงหาประโยชน์จากวิกฤติ การกักตุน การขึ้นราคา ยา รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 การหลอกขายยาปลอม กระทั่งข่าวปลอมที่สร้างความเข้าใจผิด และความสับสนให้กับคนในสังคม ที่ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งคือ ก็ยังมีภาพของการร่วมมือร่วมใจกันบริจาค ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือการรวมตัวกันของกลุ่มคนต่างๆ จิตอาสาช่วยหาเตียงรักษาผู้ป่วย จัดหาชุด PPE การสนับสนุนอาหาร และยา สำหรับโรงพยาบาล ระบบ Home Isolation และอีกหนึ่งสัญลักษณ์ด้านมนุษยธรรมในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็คือ ตู้ปันสุข ปันอิ่ม หรือปันน้ำใจ ตามแต่ที่ผู้ตั้งขึ้นในชุมชนนั้นๆ จะออกแบบเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้ผู้ที่ประสบภัยได้ประทังชีวิตผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่างๆจากภายในตู้ ที่สำคัญคือ คือ การเสียสละทุ่มเทของบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นบุคคลากรด่านหน้าจากทุกภาคส่วน ทีมวิชาการ นักวิจัย อาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชนที่มีจิตเมตตาในการร่วมบริจาคต่าง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบุคคลากรที่เสียสละทุ่มเทอยู่ในแดนดงโรค และต้องเสียสละชีวิตจากเหตุการณ์แพร่ระบาดนี้ ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่การเมืองอึมครึม และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 รุนแรงต่อเนื่อง นอกจากจะต้องระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสร้าย และเสพติดความรุนแรงทางการเมือง น่าจะเป็นเวลาที่ต้องมาทบทวนเรื่องมนุษยธรรมภายในจิตใจของเราทุกคนว่า อยู่ในระดับใด หากเผลอดิ่งลงต่ำ ไม่ว่าจะจากปัจจัยทางด้านการเมือง หรือโควิด ก็ต้องช่วยกันดึงให้กลับมาอย่าให้ถลำลึกลงไป หากสูงอยู่แล้วก็ช่วยกันยกระดับให้สูงยิ่งขึ้น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี กล่าวในพิธีถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ UNHCR (UNHCR Patron)ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม (จุดประกาย:กรุงเทพธุรกิจ) ตอนหนึ่งว่า “คุณต้องฝึกตนให้เป็นบุคคลแห่งสันติภาพ ทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไป ในเชิงสันติภาพ อย่าทำตัวเองให้เป็นเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรง การที่เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ นี่แหละคือวิธีที่เราจะรับผิดชอบต่อสังคม ต่อโลกใบนี้ พระพุทธเจ้าเคยเล่าเรื่องหนึ่งเอาไว้ มีนักกายกรรมสองพ่อลูกเล่นกายกรรมไต่เชือกด้วยกัน ลูกจะขี่อยู่บนไหล่พ่อ พ่อก็เดินอยู่บนเชือก ลูกบอกว่า พ่อ ระวังผมให้ดีดีนะ พ่อตะโกนขึ้นไปว่า พ่อจะระวังตัวเองให้ดีที่สุด ลูกก็ระวังตัวเองให้ดีที่สุด เธอไม่ต้องระวังพ่อ พ่อไม่ต้องระวังเธอ แต่เมื่อเราระวังตัวเองอย่างดีที่สุด จะเป็นการระวังคนอื่นไปด้วยพร้อมๆ กัน ฉะนั้น ถ้าเราดูแลตัวเองให้มีสติ โลกนี้ก็มีสันติ ดูแลตัวเองให้ตัวเองมีเมตตาการุณย์ นั่นก็ดูแลโลกไปพร้อมๆ กัน เมื่อเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ก็ไม่มีใครเดือดร้อนเพราะตัวเราใช่ไหม เมื่อเรามีเมตตาการุณย์ก็จะไม่มีใครเป็นทุกข์เพราะการกระทำของเรา เราก็สามารถช่วยสันติภาพโลกได้”