ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประชาชนยังคงได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึงในขณะที่มีการแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ จากการที่ภาครัฐประกาศยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) ใน 13 จังหวัด และได้ประกาศพื้นที่สีแดงเพิ่มอีก เป็น 29 จังหวัด ในเดือนสิงหาคม 2564 มีการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดง ระบบการขนส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง เช่น ยางราคา ผลไม้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.7 เทียบกับระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 34.4 มาอยู่ที่ระดับ 29.8 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับลดลงจากระดับ 48.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.3
อีกด้านหนึ่ง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ประจำไตรมาสที่ 2/2564 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 27.7 และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากนักธุรกิจต่างชาติมองปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยเวลานี้คือการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่กำหนด วัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 3 และ 4 มีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ส่งผลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อใช้ในการรักษาสภาพคล่องได้ง่ายนัก การว่างงานชั่วคราวมีผลทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีข้อเสนอแนะโดยต้องการให้รัฐบาล มีการบริหารจัดการวัคซีนให้รวดเร็วขึ้นและกว้างขวางครอบคลุมทุกกลุ่ม การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคธุรกิจตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงมาตรการเยียวยาภาคประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่มองว่าเวลานี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และยังมีความไม่มั่นใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลว่าจะสามารถทำได้อย่างลุล่วงโดยเร็ว จึงมองว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะติดลบอย่างแน่นอน
หากพิจารณาจากข้อเสนอข้างต้น จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการเรื่องวัคซีน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเป็นดัชนีชี้วัดความเชิ่อมั่น นั่นย่อมหมายความว่า ยิ่งวัคซีนครอบคลุมมากเท่าไหร่ ความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจก็จะยิ่งกลับมาเร็วเท่านั้น ที่ก็อาจส่งผลเกี่ยวเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองด้วย