ทองแถม นาถจำนง
สมัยรัชกาลที่ห้า งานภูเขาทองคงจะเป็นงานใหญ่ที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ ย่าผมเล่าว่า สมัยเป็นสาวเคยไปเที่ยวงานภูเขาทอง เวลาไปต้องเอาเข็มเหน็บเสื้อตรงหน้าอก เพราะพวกหนุ่ม ๆ ชอบมาแอบจับนมสาว ย่าบอกว่าถ้าใครมาจับนมย่าก็ถูกเข็มแทงไป...
ตอนเป็นเด็กข้าพเจ้าก็ไปเที่ยวงานภูเขาทองทุกปีครับ ขาดไม่ได้ เดินขึ้นไปไหว้พระบนยอดภูเขาทอง ก็ยังสงสัยอยู่ว่า ขอทานพิการเขาขึ้นไปนั่งขอทานกันได้อย่างไร ก็ตามประสาเด็กนะครับ ยังไม่รู้จักสังคมดีเท่าไหร่
ลงจากยอดภูเขาทองก็เดินวน ดูการแสดงที่เขาหลอกเด็ก เช่น คิงคอง , เมียงู ฯลฯ ตามประสาเด็ก แต่ที่ชอบเป็นพิเศษคือ “ละครลิง”
ละครลิง เป็นการแสดงละครโดยใช้ลิงเป็นผู้แสดง เป็นศิลปะพื้นบ้านนิยมแสดงตามงานบุญ งานวัดต่างๆ ลิงที่ใช้แสดงคือ ลิงบุด , ลิงเสน จากข้อมูลใน http://www.bansansuk.com/krungsri บอกว่า “ละครลิงแต่เดิมมิได้แสดงเป็นเรื่องเป็นราวอย่างในปัจจุบัน เป็นเพียงการฝึกลิงเพื่อขอเงินของวณิพกเท่านั้น ต่อมา นายป๊อก บุญเสนอ ได้คิดฝึกลิงแสดงเป็นเรื่องเป็นราวออกแสดงตามงานวัดต่าง ๆ ได้รับควสามนิยมจากชาวบ้านทั่วไป จนครั้งหนึ่งมีโอกาสจัดละครลิงแสดงถวายต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”
สมัยก่อนโน้น ละครลิงในประเทศไทยมีคณะดัง ๆ หลายคณะ เช่น ละครลิงคณะวัฒนาวานร ,คณะลิงไทยมั่นคง , คณะดํารงศิลปวานร , คณะศิษย์พระกาฬ ปัจจุบันเหลือละครลิงคณะศิษย์พระกาฬเพียงคณะเดียวที่ยังคงจัดแสดงอยู่
“งานภูเขาทอง” ก็ยังจัดกันทุกปี แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ไปดู จึงไม่รู้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ยังจะมีละครลิงให้เด็กสมัยใหม่ได้ตื่นเต้นกันอยู่หรือเปล่า ?
มาดูงานภูเขาทองที่ อาจารย์หม่อมเล่าดีกว่าครับ
“งานภูเขาทองนั้น ถ้าจะดูของที่ขายแล้ว เห็นจะเป็นงานสำหรับเด็กมากกว่างานของผู้ใหญ่ เพราะของที่ขายนั้นเป็นของเด็กเล่นเป็นพื้น และเด็กนั้นก็ออกจะต้องเป็นเด็กที่เล็กมาก หรือมิฉะนั้นก็โตมาก หมายถึงเด็กที่เป็นเด็กเล็กจริง ๆ ขนาด 4-5 ขวบ หรือมิฉะนั้นก็ผู้ใหญ่หัวอกสามศอกที่นึกสนุกกลับทำเป็นเด็กได้ปีละหน ดอกไม้ไฟนั้นเป็นอันเรียกได้ว่าเป็นของไทยแท้ ชาติอื่นภาษาอื่นเขาก็มีดอกไม้ไฟเล่นเหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงดอกไม้ไฟชนิดจุดให้เป็นแสงสว่างมองเห็นสวยงามอยู่กับที่ ดอกไม้ไฟชนิดที่จุดแล้วลงไปดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ แล้วกลับมาวิ่งไล่คนบนบก เป็นอันตรายแก่ชีวิตสังขารและทรัพย์สมบัตินั้น จะหาที่ไหนไม่มีอีกแล้ว นอกจากในเมืองไทยนี้เอง
การแสดงที่เด่นที่สุดในงานภูเขาทองเห็นจะได้แก่ละครลิง แต่ถึงกระนั้นละครลิงปีนี้ก็ยังกร่อยกว่าปีก่อน ๆ ทั้งโรงมีตัวละครอยู่เพียงสี่ตัวเท่านั้น และในสี่ตัวนี้ได้แสดงจริงเพียงสองตัว อีกสองตัวนั้นทำท่าเหมือนกับว่าจะแสดง แต่แล้วเอาจริงเข้าก็เปล่า เป็นแต่เพียงนั่งทำใหญ่ทำโตอยู่เฉย ๆ พระเอกตัวชูโรงนั้นมีชื่อว่าเจ้า ‘พิศ’ ตัวรองลงมาเห็นเจ้าของเรียกว่าไอ้แก่ หน้าตาก็ดูแก่จริงสมชื่อ อีกตัวหนึ่งยังเป็นเด็กมาก นัยว่ามาศึกษานาฏศิลป์ ส่วนอีกตัวหนึ่งนั้นดูก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว หน้าตาท่าทางนั้นก็สง่าผ่าเผยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่รู้ก็จะนึกว่าเป็นตัวชูโรงชั้นดาราทีเดียว เพราะสังเกตดูท่าทางจะนั่งจะลุก จะมองคนที่มาดูนั้น รู้สึกภาคภูมิยิ่งนัก แต่แล้วถึงบทบาทเข้าจริง พ่อเจ้าประคุณเป็นแต่เพียงใส่หัวเสือออกมาเดินสี่ตีนที่หน้าฉากสองสามเที่ยว แล้วก็ถูกยิงลงนอนตายประเดี๋ยวหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนเจ้าพิศตัวนายโรงจริง ๆ นั้นกลับตรงกันข้าม เมื่อยังไม่ถึงบทที่จะแสดงก็ไปนั่งแอบเจ้าของ บางทีก็เอาหัวซบหลับกับตักเจ้าของ ครั้นถึงเวลาแสดง กลับแสดงได้ดีกว่าคนอื่น ทำให้คิดไปว่า อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่ลิงจะดูสมรรถภาพกันที่ท่าทางหรือความภาคภูมินั้นไม่ได้เป็นแน่ และนอกจากนั้น แม้แต่ลิงเมื่อใส่หัวโขหัวชฎาเข้าก็กลายเป็นพระฤาษีหรือหน่อกษัตริย์พระปทุมสุริย์วงษ์ไปได้ชั่วครู่ ถึงตอนชุดหัดทหาร เจ้าของยื่นหมวกให้ใส่แล้วก็กลายเป็นนายร้อยนายพันไปประเดี๋ยวหนึ่ง ดูแล้วก็เกิดปลงธรรมสังเวช เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขารและภาวะต่าง ๆ ขึ้นมาเด่นชัด
เมื่อได้บุกภูเขาทองมาเป็นเวลานานและมาได้สติเอาในโรงละครลิงดั่งนี้แล้ว การบุกก็เห็นจะได้เวลาที่สมควรจะระงับลง พร้อมกับที่ละครลิงได้หมดชุดลงไป” (22 พฤศจิกายน 2491)