แสงไทย เค้าภูไทย การปรับครม.เป็น “ประยุทธ์ 5” หมายใจให้ภาพรัฐบาลคสช.ดีขึ้น เพื่อดันความชื่นชอบต่อบิ๊กตู่ในหมู่ประชาชน แต่กลับมีเสียงติมากกว่าชม ซ้ำเกิดกรณีนักเรียนเตรียมทหารตายอย่างมีเงื่อนงำ สื่อทุกแขนงรุมโจมตีทหารลามไปถึงรัฐบาล เรตติ้งตกฮวบจนกังวลว่า โร้ดแม็พเลือกตั้งอาจเลื่อน การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 5 นอกจากเป้าหมายปิดจุดอ่อนของรัฐบาลหยุดยั้งภาวะ “ขาลง” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ยังเพื่อสร้างเกมรุกปลุกความนิยมให้เพิ่มขึ้นด้วย แต่กลับกลายเป็นว่า ครม.ชุดใหม่ แม้ไม่มีจุดด้อย คือจำนวนนายพลนั่งกระทรวงลดลงดังที่นายกฯประกาศไว้ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯทรงลงพระปรมาภิไธย ทว่าก็ไม่มีจุดเด่น โดยเฉพาะกระทรวงสายเศรษฐกิจอันเป็นจุดด้อยที่สุดของรัฐบาลนับแต่ทำการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมานั้น มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนกันแบบยกพวงทุกกระทรวงรวมถึงสายงานเชื่อมโยง มีการเปลี่ยนเหมือนกัน แต่ผู้ที่มาแทนคนเก่า ฟังเสียงวิเคราะห์จากสื่อทุกสาขา ทุกแขนงแล้ว ไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าใดนัก ยิ่งกว่านั้น รัฐมนตรีหลายคนยังเคยทำงานร่วมกับหรืออยู่ในสายพรรคเพื่อไทยอีกด้วย การที่เอาเสียงสื่อมวลชนทุกสาขา ทุกแขนงรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องชี้วัดความเชื่อถือและการยอมรับแทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศนั้น ก็ด้วยว่า สื่อเหล่านั้น มีตัวแทนจากทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพและจากทุกกลุ่มสังคม ร่วมแสดงความคิดเห็นจนเป็นประชาพิจารณ์โดยไม่ไดนัดหมาย แม้จะมีความหลากหลาย มีความคิดแย้ง มีการสอดแทรกข้อความโจมตีฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ถือเป็นความงดงามในความเป็นประชาธิปไตยทางความคิด ทั้งๆที่ถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายคสช.ในภาวะไม่ปกติก็ตาม ที่สำคัญ ส่วนใหญ่มองพลเอกประยุทธ์ในแง่บวกมากขึ้น โดยเฉพาะจุดโจมตีที่ว่า “ไม่ยอมฟังใคร” เพราะการปรับครม.ครั้งนี้ ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น แม้จะถูกใจประชาชนไม่เต็มร้อยก็ตาม จึงเมื่อชั่งน้ำหนักและสรุปแล้ว ครม.ชุดนี้ ดีกว่าชุดเก่าพอสมควร อาจจะถือว่าซื้อเวลา ประคับประคองเศรษฐกิจมิให้ติดลบดังปีก่อนๆหน้านี้ไปเรื่อยๆจนกว่าเศรษฐกิจโลกจะกระเตื้องขึ้น ฉุดเศรษฐกิจให้ไทยดีตาม ซึ่งขณะนี้ตัวเลขหลายด้านก็ดีขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด เราคบค้าสมาคมกับประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมทั้งสิ้น แม้แต่จีนที่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ในด้านเศรษฐกิจกลับเป็นทุนนิยม ทว่าไพล่ไปเรียกว่าเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม Socialist Market Economy ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้ล่วงลับ ได้สร้างรากฐานเป็นโยบาย “สี่ทันสมัย” ทิ้งไว้ให้ เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก ( Export –dependent Economy) คือสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีสูงถึง 75% เมื่อตลาดโลกไม่ดี เศรษฐกิจโลกถดถอยนำโดยสหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ที่สุดที่เราได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด มีรายได้จากตลาดนี้ตลาดเดียวกว่า 1.3 ล้านบาท ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Great Recession) เราก็ซบเซาตาม ขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงยุโรปและเอเชียเริ่มดีขึ้น อัตราเติบโตของจีดีพีเราก็เขยิบตาม ครม.สายเศรษฐกิจชุดใหม่ คงไม่ต้องออกแรงเกินกำลังนัก เพียงแต่ดูแลมิให้ตลาดและรายได้ที่มีอยู่ มิให้สูญเสียไปก็พอแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนธันวาคมนี้ สหรัฐเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลาง (Fed) เนื่องจาก ดร.เจเน็ต เยลเลน ครบวาระคาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งส่งผลกระทบทั้งโลก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอยู่ที่ 1.50% มา ปีครึ่ง ตั้งแต่เฟดใช้อัตรา 0.00-0.25% มาจนถึงวันนี้ อัตรา 1.50% เท่ากับเรา และเดือนธันวาคม จะเป็น 1.75 % สูกว่าเรา การที่อัตราดอกเบี้ยของเราสูงกว่าของเฟด ทำให้เงินทุนไหลเข้ามามาก ดันค่าบาทแข็งโป๊ก สินค้าไทยแพงกว่าเพื่อนๆ เวียดนามฉวยโอกาสแซงพรวดเราแทบทุกตลาด โดยเฉพาะข้าว รอดูว่าเดือนหน้า ดอกเบี้ยเราต่ำกว่าของเฟด เงินทุนไหลเข้าจะลดลงไหม บาทจะอ่อนลงแค่ไหน การส่งออกจะดีขึ้นไหม ? ดูแล้ว ครม.เศรษฐกิจชุดนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวดีขึ้นมาเอง โดยเฉพาะดอกเบี้ยนโยบาย ที่มีเสียงเรียกร้องให้ลดลง แต่ธนาคารกลางของไทย คือแบงก์ชาติลดไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลยังต้องการเงินกู้อีกมาก ออก sovereign bond แต่ละครั้ง หากไม่มีเงินทุนไหลเข้ามาซื้อ ก็ขายไม่ได้ตามเป้าหมาย การคงดอกเบี้ยวที่อัตราสูงกว่าเฟด จึงเป็นสิ่งดึงดูดใจให้เงินทุนนอกไหลเข้ามาทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย การที่เราต้องออกบอนด์กู้เงินนั้น ก็ด้วยเหตุผลว่าต้องใช้เงินอัดฉีดเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาก จนเงินคงคลังลดลงมาก จนถึงกับยอมรับว่าถังแตก หนี้สาธารณะหรือหนี้ของประเทศยามนี้ จึงมีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 20 ปีนับแต่วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 2540 แรงกระตุ้นเศรษฐกิจยามนี้ พึ่งได้แต่การลงทุนภาครัฐ หวังพึ่งเอกชนไม่ได้ เพราะเอกชนไม่มั่นใจในรัฐบาลทหาร การที่เอกชนไม่ไว้ใจรัฐบาลทหารนั้น ก็ด้วยเหตุว่า ทหารก็คือข้าราชการประจำ เมื่อมาเป็นรัฐบาล ก็เอาระบบรัฐข้าราชการมาใช้ ภาคเอกชนนั้น บริหารงานกันด้วยความคล่องตัว มีการตัดสินใจเร็ว แม่นยำต้นทุนต่ำ เพราะเป็นธรรมชาติของการลงทุนอยู่แล้วที่ต้องการผลกำไรสูง ยิ่งสูงมาก ก็ยิ่งดีมาก ต่างจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการที่มีขั้นตอนมากมาย ยุ่งยาก แม้จะพยายามขจัดปัญหาขั้นตอนเอกสาร แต่ก็ยังไม่หมด เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ เอาพวกเอาพ้อง เอาญาติ ทำให้มีการตั้งตำแหน่งส่วนเกิน เพิ่มงานเพิ่มตำแหน่ง จนขนาดของระบบราชการไทยใหญ่โตมโหฬาร เอาระบบรัฐข้าราชการมาครอบประเทศ เศรษฐกิจก็อยู่กันในกรอบนครอบเช่นนี้ เมื่อการลงทุนในประเทศซบเซา ก็ได้แต่พึ่งพาการส่งออกทางเดียว สัดส่วนการใช้จ่ายในประเทศต่ำ จนต้องกระตุ้นด้วยโครงการประชารัฐ เช่นช้อปช่วยชาติเป็นต้น รัฐบาลคงต้องรอเศรษฐกิจโลกขยายตัวลูกเดียว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ว่าแต่ว่า เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว เรตติ้งนายกฯจะดีตามขึ้นไปไหม ? เพราะอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดเกิดขึ้นบนเส้นทางของนายกฯบ่อยเหลือเกิน เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ทำลายศรัทธาที่สั่งสมเอาไว้แทบหมด ไม่ว่าจะเรื่องคำสั่งห้ามนั่งท้ายรถกะบะ ภาษีน้ำ ภาษีแดด ภาษีสิ่งปลูกสร้างและโรงเรียน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ ล่าสุดก็กรณีนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตในรั้วของโรงเรียนเป็นต้น กลายเป็น เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาวเลยทีเดียว