แก้วกานต์ กองโชค “คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้หารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษากันอย่างละเอียด โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการแก้ปัญหามหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง อีก 4-6 เดือน ก็น่าจะคืนอำนาจให้มหาวิทยาลัยกลับไปบริหารเองได้”สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) บอกกับนักข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์, มรภ.ชัยภูมิ, มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก เขายังบอกอีกว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีแล้วอย่าง มทร.ตะวันออก สรรหาอธิการบดีเสร็จแล้ว นอกจากนี้จะมีการสรรหาสภามหาวิทยาลัย ส่วนอีก 3 มหาวิทยาลัยก็ดำเนินการสรรหาอธิการดีอยู่ คาดว่ากระบวนการสรรหาต่างๆ ก็น่าจะเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน “สิ่งที่ กกอ.พอใจมาก คือ ผลการประเมินคุณภาพภายในเรื่องการจัดการศึกษาของ 4 มหาวิทยาลัย ซึ่งดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมผลการประเมินคุณภาพภายในอยู่ในระดับพอใช้ ก็ขึ้นมาระดับดี ถึงระดับดีมาก” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา อธิบายถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มีการใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่งที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง จนทำให้ผู้บริหาร และสภามหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งต้องพ้นจากตำแหน่งไปทันที แต่หลายคนยังเชื่อว่า ปัญหาของมหาวิทยาลัยทั้งสี่แห่งยังไม่หมดไป โดยเฉพาะปัญหาของการบริหารจัดการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง “เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ ให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้ สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ ความในวรรคหนึ่ง ให้นำมาใช้บังคับกับผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ อยู่ในวันก่อน วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ และผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับด้วย” นั่นหมายความว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเป็น “ข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” แปลไทยเป็นไทยก็คือ ผู้ที่เกษียณอายุราชการ สามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ แก้ปัญหาการขาดแคลน และการแย่งชิงตำแหน่งบริหารภายในมหาวิทยาลัย โดยสภาวะการณ์ของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นองค์กรที่มีปัญหาหลากหลาย จนยากจะแก้ไขให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เนื่องจาก 1. ตำแหน่งบริหารนั้นมีวาระชัดเจน ไม่สามารถเป็นผู้บริหารจนเกษียณอายุราชการได้ เหมือนกรม กอง หรือกระทรวงอื่นๆ 2. อำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องรายงานกระทรวง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี เหมือนกระทรวงอื่นๆ 3. ผู้บริหารทุกคน เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็กลับไปสู่สถานะอาจารย์ผู้สอนหนังสือ ตามปกติ ทำให้ความเกรงอกเกรงใจในการบริหารงานค่อนข้างมีน้อย นั่นจึงทำให้ ไม่มีใครกลัวใคร ไม่มีใครฟังใคร คนอื่นผิดหมด กูถูกต้องอยู่คนเดียว ดังนั้น ด้วยธรรมชาติดังกล่าวของมหาวิทยาลัยจึงเกิดคำถามขึ้น มาตรา 44 สามารถแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ??? โดยมิพักพูดถึง การปฏิรูปสถาบันการศึกษาอย่างถึงรากเหง้า !!