เมื่อผลผลิตเกษตรปฐมภูมิราคาตกต่ำ เสียงวิพากษ์ แสดงความไม่พอใจก็มักจะพุ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงก่อนหน้านี้ก็วิจารณ์กันมากพอสมควร
อันที่จริงในระยะที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ก็แก้ปัญหาอะไรไปเยอะพอสมควร โดยเฉพาะปัญหาด้านการประมง ส่วนในเรื่องราคาผลผลิตเกษตรปฐมภูมิมันตกต่ำนั้น เรื่องนี้เหมือนปัญหาโลกแตกตราบใดที่ทุนนิยมยังครอบโลกอยู่ จะหนีปัญหานี้ไม่พ้น มีทางเดียวคือขยายอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรปฐมภูมิภายในประเทศไทยเราเองให้มากขึ้น
ภาคการเกษตรประสบปัญหามาโดยตลอด ทั้งด้านภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้งน้ำ ความล้มเหลวของการชลประทานและการบริหารจัดการน้ำ ด้านการตลาด ราคาสินค้าตกต่ำ ตลาดโลกสำหรับสินค้าเกษตรแคบลง การขาดเสถียรภาพการเมือง คอร์รัปชั่น และบางช่วงก็เกิดความขัดแย้งการเมืองที่มีผลต่อภาคการเกษตร
ปัญหาที่ยังไม่มีหน่วยงานใดจะช่วยได้ก็คือ ปัจจุบันเกษตรกรไทยแทบไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้า นักธุรกิจ หน่วยงานราชการ และในสังคมไทยภาคเกษตรเป็นภาคที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด
รัฐพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยมีนโยบายส่งเสริมความรู้เกษตรกรที่ยังขาดอยู่ เช่น ด้านตลาด การเงิน การจัดการ บัญชี สัญญาซื้อขาย เกษตรกรควรรู้ความเคลื่อนไหวของตลาดโลก หมุนเวียนปลูกพืชอื่นโดยดูแนวโน้มตลาดโลก เพราะผลิตมากราคาตกต่ำ หันไปเน้นเรื่องคุณภาพผลผลิตพืชแทนเน้นเรื่องปริมาณ
นี่คือความ “หวังดี” ของรัฐ แต่มันยากที่เกษตรกรรายย่อยไทยจะทำได้ถึงขั้นนั้น
ทางด้านนักวิชาการด้านการเกษตรซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาลนั้ ก็มีแนวคิดการแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำกันหลากหลายวิธีการเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ทำดันได้เพียงเรื่อง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเฉพาะด้าน โดยมุ่งเน้นการตลาดหรือความต้องการของผู้บริโภค ไม่อาจจะวางแผนด้านการผลิตได้อย่างจริงจัง
แนวคิดที่ให้สร้างองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็ง ก้เป็นเรื่องดี แต่จากบทเรียนในอดีตได้แก่ ความล้มเหลวของระบบสหกรณ์ ก็ตอกย้ำว่า การเข้าไป “จัดทำ” โดยภาครัฐ สร้างองคืกรเกษตรกรดดย ตัวเกษตรกรเองไม่พร้อมนั้น ล้มเหลวเสมอ
โดยหลักการแล้วเราเห็นด้วยว่า รัฐควรสนับสนุนองค์กรเกษตรให้แข็งแกร่งและให้มีกระจายทั่วประเทศ ให้มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมเกษตรกร รวมถึงวิเคราะห์ประเภทผลผลิตที่ออกมาและวางแผนการตลาดล่วงหน้า โดยรัฐบาลให้ความอุดหนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณสนับสนุนเพื่อลดต้นทุนการผลิต ถ้ารัฐบาลสนับสนุนให้เกิดองค์กรเกษตรอย่างจริงจังและรวมตัวเข้มแข็งตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปถึงระดับประเทศจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้
เพียงแต่ต้องสรุปบทเรียนให้ดี แล้วกล้าปลุกความตื่นตัวของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งกระจายอำนาจ-กระจายผลประโยชน์ไปจริง และต้องไม่มีการคอร์รัปชันทั้งโดยข้าราชการและประชาชนในองค์กรจัดตั้งนั้นเองด้วย
ซึ่งคงยากที่จะสมหวัง