ทีมข่าวคิดลึก
สัญญาณต่อต้าน "นายกฯคนนอก" จากสองพรรคการเมืองใหญ่ นับวันจะรุนแรง และเข้มข้นมากขึ้น ยิ่งเมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของโรดแมป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากเท่าใด ปฏิกิริยาจาก "ประชาธิปัตย์เพื่อไทย" ดูจะยิ่งปรากฏชัดมากเท่านั้น !
แม้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะปรับกลยุทธ์ เพื่อหวังดึงกระแส ความเชื่อมั่นด้วยการ "ปรับ ครม."เปลี่ยนโฉมหน้า ครม. มาสู่ "ประยุทธ์5"แล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่เข้าตา หรือทำให้ได้รับเสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจมากนัก
มิหนำซ้ำ วันนี้ยังมีแนวคิดจาก"ฝ่ายการเมือง" ที่กำลัง ท้าทายไปยังคสช.ด้วยความรู้สึกอึดอัดและคับข้องใจอย่างที่สุดว่า ในวันข้างหน้าอาจต้องมีการ "เซตซีโร่ คสช." บ้างหรือไม่เพราะไม่เช่นนั้นคงมองไม่เห็น "แสงสว่าง" ทางการเมืองในวันข้างหน้าโดยเฉพาะความหวังที่จะได้เห็น การเมืองสงบหลังการเลือกตั้ง หรือโอกาสที่จะได้เห็น "การปรองดอง" เกิดขึ้นดูจะยิ่งห่างไกลออกไปทุกที
"การเมืองต้องมีความหวัง แม้ว่าโอกาสจะริบหรี่ ถ้าเราจะเซตซีโร่ระบบคสช. และทหารถึงเวลานั้นก็ไม่มีทางออกอะไร ทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ ความคิดสุดขั้วของแต่ละฝ่ายต้องออกไป
ก่อน มีคนพูดว่าต้องสู้ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง แต่ถ้ายอมรับความจริงว่าซ้ายมือก็คนไทย ขวามือก็คนไทย ข้างหน้า ข้างหลังก็คนไทย แล้วจะสู้ให้ตายไปข้างหนึ่งหรือ" (นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ : 26 พ.ย.2560)
สิ่งที่นิพิฏฐ์ สะท้อนผ่านเวทีเสวนาบนเวทีเดียวกันกับ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย อย่าง "จาตุรนต์ ฉายแสง"แกนนำพรรครวมทั้งตัวแทนจากกลุ่มเสื้อสี ทั้งเสื้อแดง และเสื้อเหลือง อย่าง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" และ"สุริยะใส กตะศิลา" นั้น ทำให้เห็นว่าวันนี้นักการเมืองไม่ต้องการทนอยู่กับสภาพของการถูกกดดัน และเป็นฝ่ายที่ถูกบังคับให้ต้องยอมทำตามอยู่ฝ่ายเดียวในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยที่ ณ วันนี้พวกเขายังไม่เห็นว่า คสช. จะสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาได้
ไม่เพียงแต่ฝ่ายการเมือง ยังมองไม่เห็นฝั่ง ไร้ความหวังว่า หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงไปแล้ว พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่"250 ส.ว." ที่จะมาจาก คสช. ดังนั้นเมื่อ 250 ส.ว.เปรียบเสมือน "ผลผลิต"ของ คสช. โอกาสที่จะเลือกมายืนอยู่ฝ่ายพรรคการเมือง จึงเป็นไปได้ยาก !
บรรยากาศการเมืองวันนี้ไปไกลเกินกว่า ที่พรรคการเมืองเองจะเป็นฝ่ายยอมอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไป ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นทุกขณะว่าปฏิบัติการสืบทอดของ คสช.นั้นทอดยาวออกไปมากขึ้น แม้ คสช.จะเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง และประกาศว่าพร้อมที่จะส่งมอบงานให้กับ "รัฐบาลใหม่" ที่มากจากการเลือกตั้งก็ตาม
แต่ทว่านั่นเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องรอลุ้นว่าทุกอย่างจะเดินไปตามกรอบการต่อสู้ หรือกรอบตาม ที่ คสช.ขีดเอาไว้ให้เดินหรือไม่ ?
เวลานี้หากมองในมุมของ คสช.เองย่อมอดที่จะหวั่นไหวไม่ได้ว่า พรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่ไปจนถึงพรรคเล็ก จะพากับจับมือเพื่อหันมาสู้กับคสช. แทนหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น คสช.จะเป็นฝ่ายเจอกับ "โจทย์ข้อยาก" ไปทันทีถึงกระนั้น หลายสิ่ง หลายอย่างยังอาจแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขต่างๆได้อีกตราบใดที่วันเปิดสนามยังมาไม่ถึง การจับมือร่วมกันถล่ม คสช.ของสองพรรคใหญ่ วันนี้อาจเป็นเรื่อง"เฉพาะกิจ" เท่านั้น !