ทีมข่าวคิดลึก กระแสต้านเกม เซต ซีโร่ จาก"นักการเมือง" กลับมาปะทุรอบใหม่อีกครั้งและมีความเป็นไปได้ว่า แรงเสียดทานจากฝ่ายการเมืองจะทวีมากขึ้น พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังอื้ออึงในท่วงทำนองที่แสดงออกชัดเจนว่า "รับไม่ได้" หากจะต้องมีการให้นับหนึ่งในส่วนของสมาชิกพรรคการเมืองกันใหม่ทั้งหมดจริง ในห้วงเวลานี้ ได้เกิดคลื่นความเห็นจากหลายต่อหลายฝ่าย ผุดขึ้นเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นห้วงจังหวะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เปิดรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 4 ฉบับไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตลอดจน องค์กรอิสระต่างๆ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ว่าด้วยให้มีการเซตซีโร่กับทุกพรรคการเมือง ในเรื่องของสมาชิกพรรค ที่กำลังมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่าที่สุดแล้ว กรธ. จะนำไปใส่เอาไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองกำลังจะกลับเข้าสู่โหมดของการเผชิญหน้าระหว่าง "ผู้ร่าง" กับ "ผู้เล่น" อย่างนักการเมือง นักเลือกตั้งในฐานะผู้ใช้กติกาใหม่ ในการเลือกตั้งรอบหน้า 2560 เมื่อกติกาใหม่คือรัฐธรรมนูญ ฉบับที่20 ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการขั้นตอนการร่างฯ โดย กรธ. กำลังจะกลายเป็นกติกาที่ "ผู้เล่น" ไม่พึงประสงค์และรู้สึกว่าพวกเขาเป็นฝ่ายกดดัน และโดนล้อมกรอบอย่างหนัก เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ประเด็นที่ว่าด้วยการเซตซีโร่นั้น เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ มีการตั้งข้อสังเกตกันมาแล้วว่าเป็นความพยายามที่จะสร้าง กติกาเพื่อ "ย่อยสลาย" 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย จากพรรคขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นพรรคที่มีขนาดเล็กลง ยิ่งเมื่อมีการให้นับหนึ่งสมาชิกพรรคกันใหม่ ยิ่งเท่ากับเป็นการ "เปิดทาง" ให้ "กลุ่มการเมือง" ของทั้ง 2 พรรคอาศัยจังหวะ "ทิ้งพรรค" เพื่อไปซบพรรคการเมืองใหม่ทันที ! อย่างไรก็ดี ลำพังกฎกติกา มารยาทที่กำลังจะถูกร่างขึ้นมาใหม่ ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับ "นักการเมือง" อยู่ไม่น้อยขณะเดียวกันยังพบว่าในความเป็นจริงแล้วพรรคการเมืองได้ถูก "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. ทำการเซต ซีโร่ มาแล้วตั้งแต่เมื่อวันรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จากเหตุการณ์ 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมาเพราะแม้จะยังมีพรรคการเมืองหากแต่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ด้วยคสช. มีคำสั่ง "ล็อก" ไม่เปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองทำกิจกรรม หรือเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังไม่มีทีท่าว่าหลังผ่านพ้นการทำประชามติจน คสช.เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะมาได้ ก็ยังไม่มีสัญญาณ "ไฟเขียว" ปลดล็อกคำสั่ง คสช.เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเปิดประชุมพรรคได้แต่อย่างใด ! นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่า "ความเชื่อมั่น"และ"ภาพลักษณ์" ของนักการเมืองถูกวิพากษ์วิจารณ์ และโดนโจมตีอย่างหนัก ทั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นชนวนที่ทำให้เกิด "วิกฤติการเมือง" จนเป็นที่มาทำให้ คสช. ต้องเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต้องมีการสร้าง "เกราะป้องกัน" ผ่านกลไกต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำรอย นั่นหมายความว่าระยะเวลาที่เหลือไปจนถึงวันเลือกตั้งรอบหน้า 2560 ยังเป็นประเด็นที่น่าวิตกสำหรับนักการเมืองว่าจะสามารถ"ปลุกความนิยม" คืนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน ทันต่อวันเปิดสนามได้หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้น พรรคการเมืองจะสามารถหลุดพ้นจากปฏิบัติการเซต ซีโร่ ที่จะกินระยะเวลายาวนานออกไปได้เลย !