ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งนี้ดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากปัจจัยลบสำคัญ คือ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ตลอดจนการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม รวมถึงแผนกระจายวัคซีน ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกด้านหนึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจ เรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนกรกฎาคม 2564 ดังนี้ (1) ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างจากคำสั่งปิดแคมป์คนงาน สำหรับการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคท่องเที่ยวและภาคก่อสร้างที่ปรับลดลง โดยธุรกิจในภาพรวมมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่มีสัดส่วนของธุรกิจที่สภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบประเด็นพิเศษว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าประชาชนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติได้เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 50 รายต่อวัน และเกิดได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 (2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงมากทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด และแผนการกระจายวัคซีนไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นฯ อยู่ต่ำกว่าเดือนเมษายน 2563 ที่มีการประกาศ Lockdown ครั้งแรกในทุกมิติ ผู้ประกอบการ 90% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดลงมากจากเดือนก่อน และไม่เห็นพฤติกรรมเร่งกักตุน แม้จะมีการสั่งปิดห้างฯ และประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวสู่ระดับปกติเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้อีก 1 ปี เมื่อพิจารณาผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการค้าปลีกแล้ว ดูเหมือนว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วง ทั้งนี้แนวโน้มดังกล่าวเป็นการประเมินบนพื้นฐานที่การเมืองยังนิ้งไม่มีอะไรเปลียนแปลง แต่ก็น่าห่วงปัจจัยแทรกซ้อนจะกระทบกับความเชื่อมั่น