สมบัติ ภู่กาญจน์ เชิคกล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า ความริษยาเป็นอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญในประเทศที่กำลังพัฒนา ในเรื่องนี้เขาได้อ้างตัวอย่างอเมริกาใต้และอาฟริกาอีกหลายประเทศ ซึ่งความริษยาได้แทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรม ถึงขนาดใครที่มีฐานะดี จะต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่เลวร้ายต่างๆ เป็นเหตุให้คนที่มีรายได้ดีขึ้นเนื่องจากการพัฒนา ไม่ยอมปรับฐานะความเป็นอยู่ของตนให้ดี คนมีต้องแสร้งทำตัวให้เป็นคนจน อยู่กินอย่างคนจน การพัฒนาก็ดูเหมือนจะไร้ผลไป ความจริงเรื่องความริษยาในสังคมนี้ ฟรอยด์ได้เคยเขียนไว้แล้วในหนังสือชื่อ Group Psychology and an Analysis of the Ego โดยได้กล่าวไว้ว่า “ ความริษยาแรกเริ่ม (Initial Envy) นั้นเกิดขึ้นในคน ตั้งแต่อยู่ในเปลเด็ก ในครอบครัวที่มีลูกหลายคน ลูกคนโตจะอิจฉาน้องๆ ความริษยานี้จะติดตัวมาจนโต และด้วยสัญชาติญาณของฝูง(Herd Instinct) ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์เหมือนกัน ความริษยาในแต่ละบุคคลนี้ก็จะรวมตัวกันเข้าเป็นความรู้สึกด้านสังคม เป็นความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มชน จนถึงความรักหรือหลงชาติอย่างรุนแรง อันเป็นอารมณ์หนึ่งของฝูงชน ซึ่งอาจมีอารมณ์อื่นๆอีกก็ได้ ความริษยานี้เองทำให้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นต่างๆในสังคม และกลายเป็นพลังทางการเมืองขึ้นมา” เชิคมีความเห็นว่า ความริษยานี้เองทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสังคมนิยม และดูเหมือนเชิคจะคิดเลยเถิดไปว่า ที่เราเห็นว่าประชาธิปไตยหมายถึงภราดรภาพหรือหมายถึงความเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นนั้น เป็นความเห็นที่ไม่ตรงกับความจริง ความคิดตรงนี้ ผมเห็นว่าออกจะเลยเถิดไป ผมเองไม่สงสัยในทฤษฎีแห่งความริษยาของเชิค แต่ผมคิดว่า เมื่อคนมีความริษยาเป็นกิเลสาสวะมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว ก็เป็นธรรมดาของคนที่คนจะต้องหาทางที่จะกำจัดความริษยาให้หมดไปจากตนเองและสังคม เพราะไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ดี สังคมนิยมก็ดี หรือระบอบอื่นใดก็ดี หากทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมจริงจังขึ้นแล้ว ความริษยาก็จะหมดไป เกิดภราดรภาพและความเสมอภาคขึ้นมาแทนที่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นสังคมนิยมก็จะต้องเป็นไปให้ตลอด คือต้องเป็นไปให้ถึงความเป็นธรรมอันจะทำให้ความริษยาหมดสิ้นไป บังเกิดผลเป็นภราดรภาพและสมภาพ อย่าไปเป็นแค่ “สังคมนิยมอ่อนๆ” เพราะถ้าเป็นกันเพียงแค่นั้นแล้ว เราก็อาจทำเฉพาะในทางลบ คือทำให้เสียประโยชน์ของผู้ที่เราริษยาเท่านั้น ไม่ทำในทางบวก คือทำให้ความเป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้นได้จริงๆ ถ้าหากว่าประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม เป็นเครื่องกำจัดกิเลสสังคม คือความริษยาให้หมดสิ้นไปได้แล้ว ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมจะมีผู้ตีความหมายถึงภราดรภาพ ประโยชน์ของผู้อื่น หรือความเสมอภาค ก็ไม่ผิดนัก เชิคเขียนไว้ต่อไปว่า “ การวิจัยในทางสังคมศาสตร์ ได้แสดงให้ปรับระดับคนในสังคมให้เสมอกันนั้นเริ่มต้นที่ปัญญาชน ผู้เลือกตั้งธรรมดาสามัญไม่มีความริษยาจริงจังต่อผู้มีรายได้สูงๆ เพราะคนที่เราคิดอิจฉาริษยานั้นก็คือคนที่เกือบจะเท่าเทียมกับเราเท่านั้น” ในที่นี้จะต้องขอกล่าวว่าปัญญาชนที่อยู่เหนือความริษยาก็ย่อมจะมี ปัญญาชนที่วางหลักเกณฑ์แห่งความเป็นธรรมในสังคมนั้น มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่กำหนดชีวิตของตนให้อยู่ในหลักเกณฑ์นั้น เป็นต้นว่าสำรวมในชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ปล่อยให้หรูหราฟุ่มเฟือย และสำรวมในรายได้จากสังคม ไม่แสวงหาให้มากมายเกินกว่าคนอื่น หากกระทำตนไปในทางฟุ่มเฟือยหรือมีรายได้สูงเกินกว่าที่ตนเห็นควร ก็จะมีความรู้สึกสำนึกผิด ในทางการเมือง เชิคกล่าวว่าความริษยานั้นแลเห็นได้อยู่ทั่วไป ทั้งในระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ เขาอ้างว่า การล้มนายนิกิตา ครุสชอฟที่รุสเซียนั้น ความริษยาเป็นต้นเหตุและเป็นแรงผลักดันให้อีกฝ่ายหนึ่งประณามนายครุสชอพว่า เล่นพวก เจ้ายศเจ้าอย่าง และชอบเที่ยวต่างประเทศ เชิคบอกว่าความแตกต่างระหว่างนักการเมืองในระบอบคอมมิวนิสม์และในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีอยู่นิดเดียว ตรงที่ นักการเมืองทั้งสองฝ่ายจะมีความริษยาเป็นเครื่องผลักดันให้กระทำการทางการเมืองจนเป็นผลตามความปรารถนา แต่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ให้สัญญาแก่คนอื่นๆว่า จะนำความเสมอภาคในทุกทางมาให้ เพราะรู้อยู่ว่าเป็นไปไม่ได้ เชิคยืนยันว่า “มีสิ่งนี้-คือส่วนที่เกี่ยวกับรัฐตามอุดมคติเท่านั้น ที่ไม่ตรงต่อความจริงในแผนการของสังคมนิยม” บทความชิ้นนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนลงในคอลัมน์หน้าห้าของสยามรัฐรายวันเมื่อปี พ.ศ.2518 ยุคที่คนฉลาดในสังคมไทยหลายคนกำลังฝันถึงสังคมนิยมว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของการเมืองในอนาคตของประเทศไทย จนแม้แต่พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศก็ประกาศว่าจะปรับปรุงนโยบายพรรคให้เป็นสังคมนิยมอ่อนๆ และการตั้งพรรคใหม่เอี่ยมของอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พยายามอิงนโยบายเพื่อ(ความนิยมของ)สังคมไว้ไม่น้อยเช่นเดียวกัน บทความชิ้นนี้อาจารย์เขียนขึ้น หลังจากที่ตั้งพรรค ส่งผู้สมัครทั่วประเทศ รวมทั้งตนเองก็ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ ผิดไปจากที่คาดหมายไว้อย่างน่าตกใจ อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของบทความชิ้นนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ฝากความรู้สึกในขณะนั้นทิ้งท้ายไว้ดังนี้ แต่ความจริงในประวัติศาสตร์การเมืองและการปกครองของโลก ก็ยังมีเหตุการณ์ปรากฏอยู่อย่างที่เถียงไม่ได้ว่า ในเยอรมันสมัยนาซี ในอเมริกาใต้ ในรุสเซีย ในอินโดนีเซีย และท้ายที่สุดในประเทศกานา การปฏิวัติได้เริ่มต้นด้วยความประสงค์ร้อนแรงที่จะปรับสภาพคนให้ทัดเทียมกัน ไม่ให้มีเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอีกต่อไป แต่หลังจากการปฏิวัติสำเร็จแล้ว ก็ปรากฏว่าคณะบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ปฏิวัตินั้นกลับกลายเป็นบุคคลอีกชนชั้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าคนชั้นอื่นๆ ทั้งในฐานะทางเศรษฐกิจและในอำนาจ เมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 ก็เป็นอย่างนั้น บทความชิ้นที่สามที่เขียนโดยส.ส.คึกฤทธิ์เมื่อปี 2518 จบลงด้วยประโยคนี้ การเสนอความคิดอย่างนี้จะเป็นการสนับสนุน-คัดค้าน-หรือเป็นการเตือนสติ ให้คนที่คิดจะทำ หรือคิดจะเชื่อมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คิดก่อนเชื่อให้มากๆ ก็คงสุดแท้แต่ผู้อ่านจะอ่านแล้วคิดและพิจารณา อย่างไรก็ตามข้อเขียนชุดนี้ยังไม่จบ ยังมีต่อด้วยแนวคิดที่สาม ซึ่งผู้สนใจต้องขอเชิญให้ติดตามกันต่อไป ยังมีเรื่องที่ชวนให้คิดถึงการเมืองไทยในอนาคตอีกมากมายหลายประเด็น ที่จะนำมาคิดอีกครั้งในวันนี้ ก็ยังไม่ล้าสมัยเกินไปแน่นอนครับ