ทองแถม นาถจำนง “ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่เป็นหนุ่มเป็นสาว ท่านรู้หรือไม่ว่าภูเขาทองนั้นเป็นมาอย่างไร ถ้าท่านไม่รู้ก็เขยิบเข้ามาใกล้ ๆ ไม่ต้องถึงกับมานั่งบนตักดอก เอาแต่เพียงใกล้ ๆ จะเล่าให้ฟัง” (คึกฤทธิ์ ปราโมช) เด็ก ๆ ทุกวันนี้ไม่ซาบไม่ซึ้งอะไรกับภูเขาทองนักหรอกครับ เพราะกรุงเทพมหานครฯ นั้นกว้างใหญ่ และห้องแอร์เย็น ๆ ตามห้างสรรพสินค้าดึงดูดพ่อแม่ของเด็กได้มากกว่าวัดวาอาราม เมื่อพ่อแม่ไม่รู้จักเที่ยววัดแล้ว ลูก ๆ จะรู้จักวัดได้อย่างไรเล่าครับ ภูเขาทองวัดสระเกศนั้นมีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก คือมีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเสียเงินเดินทางไปอินเดีย เราก็นมัสการพระบรมธาตุได้ที่ภูเขาทองวัดสระเกศ แต่จุดสำคัญที่ทำให้ภูเขาทองอยู่ในจิตใจของคนรุ่นข้าพเจ้และรุ่นก่อน ๆ ก็คือ “งานภูเขาทอง” “งานภูเขาทอง” เป็นงานใหญ่ ดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวได้มากมายมหาศาล “ย่า” ของข้าพเจ้าที่เป็นชาวสวนย่านวัดทอง ปลายคลองบางจาก ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะเข้า “พระนคร” (คือฝั่งกรุงเทพ) ก็จะต้องเดินผ่านสวนผลไม้มาท่าน้ำวัดลิงขบหรือวัดบวรมงคล นั่งเรือแจวข้ามไปตลาดเทเวศร์ แล้วจึงเดินไปวัดสระเกศ การไปเที่ยวงานภูเขาทองจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่ย่าก็เล่าให้ฟังว่า ตอนสาว ๆ ได้ไปเที่ยวประจำ (ปีละครั้ง) การไปเที่ยวงานภูเขาทองก็จะต้องเตรียมป้องกัน “การถูกกลุ่มหนุ่มจับนม” ให้ดี โดยติดเข็มเอาไว้ที่บริเวณหน้าอก งานภูเขาทองนั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำเนินไปทุกปี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงงานภูเขาทองไว้ว่า “ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่เป็นหนุ่มเป็นสาว ท่านรู้หรือไม่ว่าภูเขาทองนั้นเป็นมาอย่างไร ถ้าท่านไม่รู้ก็เขยิบเข้ามาใกล้ ๆ ไม่ต้องถึงกับมานั่งบนตักดอก เอาแต่เพียงใกล้ ๆ จะเล่าให้ฟัง คำว่าภูเขาทองนั้นเป็นชื่อเรียกพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่กรุงศรีอยุธยา เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง เป็นปูชนียสถานที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปนมัสการอยู่เป็นนิจ ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว เมื่อได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่กรุงเทพ ก็ได้มีการที่จะทำให้กรุงเทพเป็นกรุงศรีอยุธยาที่ดีกว่าเก่า รุ่งเรืองกว่าเก่า ของสิ่งใดที่เคยมีที่กรุงศรีอยุธยาก็มาสร้างขึ้นใหม่ที่กรุงเทพ บางอย่างก็ใช้ชื่อเดิม บางอย่างก็ใช้ชื่อเดิม เป็นต้นว่า คลองมหานาค และชื่อวัดต่าง ๆ เป็นต้นว่า วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐ เหล่านี้ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 3 จึงทรงพระราชดำริว่ ภูเขาทองอันเป็นเจดีย์ที่สำคัญที่กรุงศรีอยุธยานั้นควรจะได้สร้างขึ้นเป็นปูชนียะสถานสำหรับกรุงอีกองค์หนึ่ง ทำให้ใหญ่โตและงดงามกว่าที่กรุงเก่า จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ลงมือสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นที่วัดสระเกศ อันเป็นวัดอยู่นอกกำแพงเมือง ข้ามคูพระนครออกไป ดังเช่นวัดภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา ตามแบบแผนพระเจดีย์ที่จะสร้างขึ้นนั้น เป็นเจดีย์ที่ใหญ่โตนักหนา แต่ที่ ๆ จะสร้างนั้น เป็นที่ลุ่มต่ำจึงต้องวางรากกันอย่างแข็งแรง เล่ากันว่าลงรากด้วยซุงผูกกันเป็นแพแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ แล้วก็ยังไม่พอ ยังได้ใช้ตุ่มสามโคกอีกเป็นจำนวนมากคว่ำอัดลมไว้ในตุ่ม ทำเป็นรากพระเจดีย์อีกชั้นหนึ่ง ถึงจะได้ระมัดระวังกันถึงเพียงนั้นแล้วก็ตาม พอก่อพระเจดีย์ขึ้นไปเพียงฐาน ยังไม่ถึงคอระฆัง พระเจดีย์นั้นใหญ่โตนัก แผ่นดินทานน้ำหนักไม่ไหวก็เกิดเรื่องอาคารพังครืนลงมา โดยเหตุที่พระเจดีย์นั้นใหญ่โตเกินไป เมื่อพังลงมาแล้วก็สุดปัญญาคนที่จะก่อสร้างต่อไปให้เสร็จได้ เพียงอิฐหักกากปูนที่กองสุมกันอยู่ ก็ไม่สามารถจะขนไปไว้ทีไหนได้ จำต้องทิ้งให้กองไว้ดั่งนั้น ครั้นต่อมานานเข้า ต้นไม้ก็เริ่มขึ้นบนกองอิฐหัก ทำให้ดูเป็นภูเขา แต่ที่เรียกว่าภุเขาทองนั้นหาใช่ เพราะเหตุนี้ไม่ เป็นชื่อเจดีย์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงแม้ว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างเสร็จไม่มีลักษณะเหมือนภูขาเลย คนก็จะยังคงเรียกว่าภูเขาทองอยู่นั่นเอง ส่วนพระสถูปที่อยู่บนยอดภูเขาทองอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นของสร้างขึ้นสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในชั้นหลัง เมื่ออิฐหักที่กองทับกันแน่นได้กลายเป็นภูเขาไปแล้วจริง ๆ ขอให้ลองคิดกันดูเถิด ภูเขาทองที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้และที่เราเห็นกันว่าสูงนักสูงหนานั้น เป็นเพียงฐานพระเจดีย์ ถ้าพระเจดีย์องค์นั้นสร้างไปจนเสร็จไม่พังลงมาเสียก่อนจะสูงใหญ่มหึมาสักเพียงไหน.... อันงานภูเขาทองนั้นมีแบบแผนเป็นพิเศษนอกเหนือไปกว่างานวัดอื่น ๆ ที่พิเศษนั้นก็คือ เชือกกั้นกลางทางเดินกั้นไว้เป็นเส้นคู่สองเส้น มีทางเดินกลาง ของที่ขายนั้นมีดอกไม้ไฟและอาวุธกระดาษ อีกอย่างหนึ่งก็คือละครลิง เชือกที่กั้นกลางทางเดินนั้น ผู้เขียนได้เคยเห็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่กั้นไว้สองเส้นนั้น เป็นทางที่พลตระเวนหรือโปลิศหรือหมาต๋าหรือผู้พิทักษ์สันตราษฎร์ จะได้เดินตรวจตราระวังระไวรักษาความสงบของงานอยู่ในระหว่างเชือก และงานภูเขทองนั้น แต่ก่อนต้องมีการตีกันอย่างสาหัสเป็นแบบฉบับทุกปี การที่กั้นเชือกคู่ไว้นั้น จึงมีประโยชน์ในการพิทักษ์ร่างกายสังขารของเจ้าพนักงานเอง ในเมื่อเกิดภาวะคับขันสุดขีดจนเกินขบขัน จะได้หลบเข้าไปอยู่ในหว่างกลางเชือกนั้นได้ จำได้ว่าแต่ก่อนนั้น งานภูเขาทองเป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน หรือมิฉะนั้นก็มีเจ้านายผู้ใหญ่ชั้นเจ้าฟ้าเสด็จทุกปี เวลาในหลวงเสด็จหรือเจ้านายเสด็จนั้นยังจำกันได้ว่า พลตระเวนต้องเป่านกหวีดกันเป็นการหนักหน่วง ผู้คนก็แตกตื่นคอยเฝ้าแหนรับเสด็จ การที่เสด็จพระราชดำเนินนั้น ดูไม่เห็นทางที่จะน่าสนุกตรงไหนเลย เพราะต้องเสด็จพระราชดำเนินมากลางเชือกที่กั้นเอาไว้ เป็นอันว่าไม่ได้ทอดพระเนตรร้านรวงแต่อย่างใด เพราะคนที่มาเที่ยวงานนั้นก็ยืนบังแน่นหมด”
(จากเรื่อง “บุกภูเขาทอง” รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “คึกฤทธิ์ว่า” ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2495 แต่ท้ายเรื่องระบุว่าเขียนเมื่อพ.ศ. 2491 น่าจะเป็นบทความที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ เขียนให้คุณสละ ลิขิตกุล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ในขณะนั้น นำลงตีพิมพ์ใน นสพ.เกียรติศักดิ์)