เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง เรื่อง ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 31) ซึ่งเป็นคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามคำสั่งฉบับที่ 29 หลังศาลสั่งคุ้มครองวันก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2564 นั้น
โดยที่ได้มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2564 แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศบค.เห็นว่า แม้จะเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอในเหตุฉุกเฉินซึ่งศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้คู่ความเพราะอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น และคู่ความอาจยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นได้ตามมาตรา 267 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เมื่อปรากฏว่าในทางปฏิบัติยังไม่ได้บังคับใช้ข้อกำหนดนั้นแก่กรณีใดและเจ้าหน้าที่อาจนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ได้ตามที่ศาลกล่าวถึง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นายกฯจึงออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวกล่าวผ่านรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดชั่วคราว แต่ในกระบวนการยังไม่ได้เชิญนายกฯ ไปชี้แจงว่า ทำไมจึงต้องออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ทั้งนี้ที่ผ่านมายังไม่มีการบังคับใช้หรือไปจับใคร แต่เนื่องด้วยสถานการณ์แบบนี้นายกฯ ก็ให้ใช้กฎหมายตัวอื่นไป ทั้งนี้เราขอความร่วมมือประชาชนให้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง ส่วนจะมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างไร ก็ไม่ได้มีการไปจำกัดสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล สามารถทำได้แต่ขอแนะนำว่าอย่าสร้างความหวาดกลัวหรือข่าวปลอมให้กับประชาชน
ขณะที่ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอแสดงความชื่นชมในการตัดสินใจยกเลิกประกาศดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี แต่เพื่อแสดงความจริงใจว่า รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาที่จะลิดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชนนายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ด้วย เนื่องจากมีเนื้อหาเช่นเดียวกับประกาศฉบับที่ 29 ข้อ 1 ที่ยกเลิกไป
จากสถานการณ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น เราเห็นว่า โดยหลักการแล้วความพยายามควบคุมหรือแทรกแซงสื่อทั้งในเชิงโครงสร้างและการปฏิบัตินั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อทั้งกับรัฐบาล และสังคมแต่อย่างใด การส่งเสริมให้กลไกกำกับดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับกระบวนการโซเชียลแซงชันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรสื่อที่มีความเข้มแข็งได้พยายามทำหน้าที่นี้อยู่ โดยที่สมาชิกมีการตรวจสอบตนเองได้ดีในระดับหนึ่ง
แม้ต้องยอมรับว่า อาจมีสื่อบางรายที่มีวาระซ่อนเร้นอย่างชัดเจน ในการนำเสนอข่าว แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก และต้องเลือกวิธีการจัดการที่มีศิลปะ การออกกฎหมายแบบเหวี่ยงแหจึงไม่เกิดประโยชน์
หากรัฐบาลมองปัญหาด้วยความเป็นจริง บนพื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติของสื่อ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างแรงจูงใจด้านบวกกับสื่อที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการตรวจสอบข่าว และรู้เท่าทันข่าว ของคนในสังคมมากขึ้น ภายใต้กลไกต่างๆที่รัฐบาลสามารถเอื้ออำนวยก็จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้
แม้จะช้าไปสำหรับสถานการณ์ที่กำลังสับสนวุ่นวายนี้ ที่เดินมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับ แต่จำเป็นต้องเร่งทำ