รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ ๆ ร่วมกันที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความอดอยากหิวโหย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ฝุ่นละออง PM 2.5 ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยืดเยื้อเกือบสองปีมาแล้วที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบรรเทาปัญหาโควิด-19 และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่างให้ความสำคัญและติดตามข้อมูลตัวเลข / สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 กันชนิดวันต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข / สถิติผู้ติดเชื้อใหม่ ผู้เสียชีวิต ผู้หายป่วย ผู้ป่วยหนัก วัคซีนที่จัดซื้อ จัดสรรหรือรับบริจาค โดสหรือผู้ฉีดวัคซีนเข็ม 1-2-3 เตียงรองรับผู้ป่วยใหม่ ผู้ที่ฆ่าตัวตายเซ่นโควิด-19 ประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละชนิดหรือแบรนด์ การฉีดวัคซีนแบบไขว้กัน วันและเวลาล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ฯลฯ
ตั้งแต่การเผยแพร่ข้อมูลจำนวนตัวเลข / สถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่หลักหมื่นเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 เป็นต้นมา เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีอาการเครียด จิตตก หวาดผวา และรู้สึกช็อกไปตาม ๆ กัน อาการจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะ ‘นิ่ง’ หรือมี ‘สติ’ มากน้อยกว่ากัน เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาของแต่ละวันกิจวัตรหนึ่งที่เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องทำคือ ‘กดทีวี/วิทยุ’ หรือ ‘ไถมือถือ’ เพื่อติดตามตัวเลข / สถิติ และลุ้นว่าตัวเลข / สถิติ ที่นำเสนอจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นตัวเลข /สถิติที่ “พุ่งสูงสุด” หรือยัง แล้วสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือจำนวนผู้ฉีดวัคซีน มีเป็นจำนวนเท่าใด และเมื่อใดกันที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงไปบ้าง นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนคนไทยยังติดตามถี่ ๆ เกี่ยวกับตัวเลข / สถิติไม่แพ้ข้อมูลโควิด-19 ก็คือ จำนวนเงินช่วยเหลือของภาครัฐผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากรายได้ที่หดหายไปที่เป็นผลพวงของโควิด-19 จำนวนหนี้ครัวเรือน การประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 2564 ฯลฯ
แหล่งที่มาของข้อมูลตัวเลข / สถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิด เป็นตัวบ่งบอกสำคัญว่าตัวเลข / สถิติ ที่นำเสนอสู่สาธารณะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ยิ่งไปกว่านั้น เว็บไซต์ Our World in Data แหล่งข้อมูลตัวเลข / สถิติ ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดซึ่งเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกล่าวว่า ความล้มเหลวสำคัญที่ทำให้การบรรเทาปัญหาใหญ่ ๆ บนโลกนี้ไม่คืบหน้าหรือบรรลุผลสำเร็จคือ ‘เราใช้งานวิจัยและข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ความรู้ที่สำคัญ ๆ มักถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้...’ อย่างไรก็ตาม ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเข้าถึงข้อมูลตัวเลข / สถิติ คงไม่ใช่ปัญหาหลักเท่าใดมากนัก เมื่อเทียบปัญหา ‘ความน่าเชื่อถือของข้อมูล’ เพราะบรรดานักวิจัยหรือนักวิชาการหลายสำนัก หลายสังกัด และหลายประเทศที่มีความน่าเชื่อถือมากต่างพากันนำเสนอข้อมูลแบบ ‘ชิง’ กันไปมา จนบางครั้งนำไปสู่สภาวะ ‘สับสนและอลหม่าน’ ในหมู่ประชาชนและไม่แน่ใจว่าจะเชื่อฝ่ายใดดี
ที่เป็นอย่างนี้เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ของมนุษยชาติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ บนโลกทั้งในเชิงข้อมูล ตัวเลข / สถิติ ทฤษฎี ความรู้ ความคิด และการปฏิบัติ สิ่งที่มีมาก่อนบางอย่างกลับใช้ไม่ได้หรือใช้ได้บ้างเพียงบางส่วนเท่านั้น โลกจำเป็นต้องมีการปรับและขยับใหม่ ตลอดจน “การแหกกฎเกณฑ์เดิม ๆ” บนความเสี่ยงที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อนเพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างที่เห็นชัดมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ การใช้หรือไม่ใช้หน้ากากอนามัยจนในที่สุดเมื่อสถานการณ์มากพอจึงเกิดเป็นข้อมูลชุดใหม่เกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโควิด-19 หรือต่อไปเราอาจได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและมั่นใจขึ้นเกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็คตินรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นต้น
ท้ายนี้ การแพร่ระบาดของโควิค-19 มีผลต่อตัวเลข / สถิติ ที่ท่วมท้นแบบทะลักทลาย (Data Explosion) ทำให้ความสามารถของบุคคลหรือองค์กรกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อประเมิน คาดการณ์ ตัดสินใจ และเลือกแนวทางที่ปลอดภัยและดีที่สุด เพื่อให้สถานการณ์ทุเลาลงให้รวดเร็วมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นปัญหาโควิด-19 โดยตรง หรือปัญหาสืบเนื่องที่เกี่ยวพันมา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสภาวะจิตใจของคนในครอบครัวที่ติดโควิด-19 ปัญหาการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา ปัญหาการสูญเสียโอกาสการรักษาโรคอื่น ๆ ที่มิใช่โควิด-19 ฯลฯ
และที่แน่ ๆ คือ ตัวเลข / สถิติ ยังถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการฝ่าวงล้อมออกจากปัญหาทุกปัญหาไม่ว่าจะวันนี้หรือวันข้างหน้า
ตกลงวันนี้ ท่านผู้อ่านรอตัวเลข / สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 เรื่องใดบ้างครับ !!!