วันที่ 10 ส.ค.64 "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ยกคณะกันไปที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย่านสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี เพื่อขอให้ดำเนินการ "ไต่สวนข้อเท็จจริง" และ "ดำเนินคดี" กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีออกประกาศฉบับที่ 29 ตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จำกัดสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน จนทำให้สื่อมวลชนยื่นฟ้องศาล จนในที่สุดศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวยังถูกขยายความผิดเพิ่มเติมอย่างน้อย 4กระทงตามมา ทั้งการกระทำผิดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และความผิดตามกฎหมายอาญา ตามมาตรา 157 รวมถึงการเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป้าหมายของพรรคฝ่ายค้านชัดเจนตามที่ "สุทิน คลังแสง" ประธานวิปฝ่ายค้านระบุเอาไว้คือ " ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาไต่สวนและเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อดันคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาคดีแผนกอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เชื่อว่าหากศาลประทับรับฟ้อง จะมีผลสั่งให้พลเอกประยุทธ์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่" ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงในวันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามสั่งยกเลิกให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.64 เป็นต้นไป แน่นอนว่า หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้รัฐบาลและโดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าต้องการออกกฎหมายเพื่อ "ปิดปากสื่อ" ห้ามมิให้นำเสนอข่าวซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้นเมื่อนายกฯส่งสัญญาณ "ถอย" เช่นนี้อาจทำให้ฝ่ายค้านต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะเรื่องที่ยื่นไปยังป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบนายกฯ กรณีดังกล่าวจะเดินต่อไปอย่างไร ? นอกจากนี้ในคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุเอาไว้ว่า " แต่เมื่อปรากฏว่าในทางปฏิบัติยังไม่ได้บังคับใช้ข้อกำหนดนั้นแก่กรณีใดและเจ้าหน้าที่อาจนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ได้ตามที่ศาลกล่าวถึง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548" หมายความว่ายังไม่มีการ "บังคับใช้ข้อกำหนด" เกิดขึ้น ลำพังการรบรากับ "ฝ่ายค้าน" เชื่อว่า "รัฐบาล" คงไม่หนักใจเท่าใดนัก หากเรื่องดังกล่าวไม่ถูก "ขยายผล" ลุกลามไปสู่การเปิดแนวรบเพิ่มขึ้นมากับ "สื่อ" จนทำให้ "ฝ่ายค้าน" หยิบกรณีดังกล่าวรุกคืบใช้กฎหมายเข้าดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่งกับรัฐบาล มิหนำซ้ำยังมีความพยายามที่จะดึงเรื่องให้ไปถึงศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บนความคาดหวังของฝ่ายค้านต้องการให้นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมา หากศาลประทับรับฟ้อง จากเรื่องหนึ่ง ได้ถูก "ขยายผล"ไปสู่การแตกประเด็น แตกแนวทางที่รุกไล่พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจมีผลมากกว่าเกมการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรอย่างวาระการซักฟอกรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์หวั่นไหว เพราะเคยผ่านศึกในสภาฯมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่การถอยเพื่อให้ "ขุน" บนกระดานเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ต้องมาพะวักพะวงกับเรื่องคดีความ คือเรื่องสำคัญมากกว่าเป็นไหนๆ!