ณรงค์ ใจหาญ
คดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้นในสังคมไทยหลายคดี แต่ที่กระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคมมาก คือคดีฆ่าข่มขืนหรือข่มขืนแล้วฆ่า ซึ่งเกิดขึ้นแม้มีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยในสังคมโดยเห็นใจผู้เสียหาย และครอบครัวที่ต้องประสบเคราะห์กรรมที่ไม่ควรจะเกิด ยิ่งเป็นเด็ก หรือครู หรือหญิง ยิ่งได้รับความเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน ความชิงชัง และเคียดแค้น นำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐจัดการกับผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด และรุนแรงก็มีอยู่มากเช่นเดียวกันข้อเรียกร้องของประชาชนคือ ข่มขืนควรประหารชีวิตทุกกรณีข่มขืนไม่ควรให้อุทธรณ์ ควรตัดสินประหารเลยภายในสามวันเจ็ดวัน เพื่อจะไม่ให้ใครนำไปเยี่ยงอย่าง และไม่ให้คนดีต้องตกเป็นเหยื่อกับอาชญากรรายนี้อีก
ข้อเรียกร้องดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มากกว่าโทษในกฎหมาย กล่าวคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ทวิและตรี กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต สำหรับการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท แต่ถ้ากระทำไปแล้วมีผลถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตในขณะที่หากการข่มขืนได้มีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือร่วมกระทำในลักษณะที่เป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีโทษสูงกว่าวรรคหนึ่ง คือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื้นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าทำให้ถึงแก่ความตาย มาตรา 277 ตรีกำหนดระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว
จากบทบัญญัติข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การข่มขืนและมีผลทำให้คนตาย หรือฆ่าให้ตายและข่มขืน ซึ่งกรณีหลังเป็นความผิดต่อชีวิตโดยตรง มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตตามมาตรา 288 และมาตรา 289 (6) อยู่แล้ว ทำให้เห็นชัดว่า กฎหมายอาญามีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับการกระทำที่ผู้กระทำผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสังคม อย่างไรก็ดี การบังคับโทษจำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในกระบวนพิจารณาคดีอาญา หากเห็นโทษหารชีวิตกฎหมายกำหนดให้ต้องมีทนายความ ช่วยเหลือในการต่อสู้คดี และแม้ให้การรับสารภาพยังคงต้องสืบพยานเพื่อให้ได้หลักฐานจนปราศจากข้อสงสัยว่าผู้นั้นกระทำความผิดจริง การดำเนินคดีอาญาจึงต้องดำเนินการภายในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจไม่เป็นที่พอใจของประชาชนที่ต้องการการบังคับใช้กฎหมายที่รวดเร็ว และเข้มงวดเพิ่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารกระบวนการยุติธรรม
ข้อเรียกร้องอีกประการหนึ่งที่ต้องการความรวดเร็ว คือ ไม่ควรมีการอุทธรณ์ หรือฎีกา ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิพากษาตัดสินรวมกันไม่น้อยกว่าสามปี และไม่ควรได้รับการอภัยโทษ ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ เป็นความต้องการที่ต้องให้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็วนั่นเอง อย่างไรก็ดีสิทธิในการอุทธรณ์ของคู่ความหรือจำเลย ต้องได้รับการประกันตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยเข้ารับผูกพันแล้ว การที่จะตัดไม่ให้มีการอุทธรณ์คงทำได้ยาก แต่การฎีกาอาจทำได้ ส่วนกรณีที่ผู้ต้องโทษได้รับโทษประหารชีวิต กฎหมายกำหนดให้สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจ ด้วยเหตุนี้ การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และฆ่า จึงจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอย่างรอบคอบ และมีขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาด้วยกระบวนการเหล่านี้เองทำให้ประชาชนเห็นว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ และส่งผลต่อการเกิดปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เป็นที่น่าสังเกตว่า จากสถิติของราชทัณฑ์ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ต้องโทษประหารชีวิต ไม่มีนักโทษที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือเกี่ยวกับชีวิตร่างกายที่ได้รับการประหารชีวิตจริง ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะเป็นคดีเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดจำนวนมาก นั่นแสดงให้เห็นว่า การบังคับโทษของไทยไม่ได้เน้นการข่มขู่ยับยั้งแต่ เน้นการแก้ไขเยียวยา เพื่อผลให้ผู้นั้นกลับเข้าสู่สังคมได้ใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป จากประวัติของคนกระทำความผิดฐานฆ่าข่มขืนบางรายก็ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำๆ กัน เหมือนพวกโรคจิต แต่กระทำความผิดเพราะอาศัยโอกาสที่เหมาะสม และเหยื่อเผลอ เป็นต้นนอกจากนี้ การกระทำความผิดยังเกิดจากความผิดปกติทางฮอร์โมนที่มีมากเกินปกติ ซึ่งในกรณีหลังนี้ บางประเทศ ใช้การลงโทษจำคุกควบคู่กับการบำบัดด้วยยาลดฮอร์โมนเพื่อลดอันตรายจากการที่ผู้นั้นจะไปข่มขืนผู้อื่นอีก
แนวทางในการลงโทษผู้กระทำความผิดในความผิดฐานฆ่าและข่มขืน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย นักกฎหมาย ศาล อัยการ และผู้บริหารงานยุติธรรมทุกท่านว่า ความเห็นของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้ลงโทษหนัก และรวดเร็วแสดงให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไม่รุนแรงเพียงพอและไม่รวดเร็วเพียงพอในการลงโทษ ซึ่งหากพิจารณากระบวนการดำเนินคดีที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว อาจไม่สามารถทำให้รวดเร็วดังใจประชาชนได้ และอาจมีความเสี่ยงที่จะลงโทษผิดตัว หรือลงโทษไปโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้นั้นมีความผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการยกเว้นหรือลดโทษหรือไม่ในขณะเดียวกัน หากดำเนินคดีแบบคดีปกติ ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่าห้าปีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ความรู้สึกของประชาชนต่อความเชื่อถือในเรื่องประสิทธิภาพของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมย่อมถูกมองไปในทางลบมากกว่า ทางเลือกในการดำเนินการจึงต้องหาความสมดุลในเรื่องนี้ โดยการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว สืบพยานให้รัดกุม และตรวจสอบความถูกต้องของพยานให้ครบถ้วนถูกต้อง รวมถึงการสืบเสาะหาข้อมูลอันเป็นสาเหตุของการกระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อผลในการลงโทษที่เหมาะสม และเป็นธรรม โดยไม่มีข้อผิดพลาดในเรื่องพยานหลักฐาน
การแก้ไขเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ข่มขืนและฆ่าโดยการประหารชีวิต จึงไม่ใช่เป็นการแก้กฎหมายอาญา แต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่รวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้เสียหาย ทายาท หรือสังคม มีความพึงพอใจกับการบริหารงานยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ส่วนการป้องกันอาชญากรรมที่จะไม่ให้มีการข่มขืนแล้วฆ่าซ้ำนั้น ควรเน้นที่การตัดโอกาสที่ไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้มีการกระทำเหล่านี้ โดยตรวจสอบตรวจตรา และแจ้งเตือน ต่อไป