สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจเอฟทีไอโพล ครั้งที่ 8 ในเดือนกรกฎาคม 2564 เรื่อง “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” จากการสำรวจผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. ครอบคลุมผู้บริหาร 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย
โดยโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบต้องลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 30% คิดเป็น 45.2% โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็น 26.5% โรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30-50% คิดเป็น 20.5% และโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8%
ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็น 51.8%รองลงมาสถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็น 49.4% และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัดคิดเป็น 41.6% ส่วนการจ้างงานส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็น 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10-20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น10-20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็น 4.8%
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวออกมาก่อนที่ศบค.จะมีมติขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ออกไปเป็นระยะเวลา 14 วัน พร้อมยกระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร พร้อมกับปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด
โดยในเบื้องต้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประเมินว่าการยกระดับและขยายพื้นที่ครั้งนี้ปรับตามสถานการณ์ในต่างจังหวัด จะกระทบเศรษฐกิจจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เดือนละ 200,000-300,0000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 250,000-350,000 ล้านบาท
ในขณะที่ปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จะเป็นปัญหาสะสมที่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสาหัส