ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
ผลการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย ศิริวิตญ์ ดอกแก้ว สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สะท้อนปัจจัยด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การบูรณาการและการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถบูรณาการแผนงานโครงการงบประมาณระหว่างหน่วยงาน สร้างความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระดับประเทศและระดับพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางอันเดียวกัน และสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชน ทำให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายภายใต้กฎหมายที่กำหนดได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกาย การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางด้านทรัพย์สิน การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การไปประกอบพิธีฮัจญ์ และการอูมเราะห์ โดยหน่วยงาน ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งได้ดำเนินการเต็มตามศักยภาพตามที่ได้รับมอบหมาย จึงได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นจากประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ระบบการอำนวยความเป็นธรรมของหน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบให้ดีขึ้น แต่ระบบการเยียวยาอาจยังล่าช้า เพราะต้องมีมติเอกฉันท์ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และฝ่ายตำรวจ ซึ่งหากใช้มติเพียงสองใน 3 ฝ่าย ก็จะทำให้ระบบการเยียวยามีความรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับปัจจัยสุดท้าย คือ ปัจจัยด้านการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจนได้ข้อยุติ การอำนวยความเป็นธรรม การสร้างความเชื่อถือศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาโครงร้างพื้นฐานและการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจนได้ข้อยุติ ย่อมมีผลต่อการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่และเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่
การสร้างโอกาส สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งหน่วยงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานที่มีผลการประเมินจากประชาชนมากที่สุด เพราะมีบัณฑิตอาสามาช่วยในพื้นที่ ทำให้มีการสื่อสารและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน นอกจากนี้ เป็นเรื่องของการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการให้บริการต่างๆ อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนได้ตามกรอบและโครงสร้างตามอำนาจหน้าที่ ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาแนวทางการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ทุกหน่วยงานควรมีการทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน มีเอกภาพ ซึ่งการจัดโครงสร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเอื้อต่อการให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ โดยการนำระบบ “ยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน” มาใช้ในพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องมีการแยกประเด็นการนำความในมาตรา 21 (การอบรมแทนการฟ้อง) มาบังคับใช้ร่วมกับระบบยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน ทั้งด้านระบบนิติรัฐ การสร้างความเข้าใจ การสร้างการยอมรับหรือความเชื่อมั่นให้ประชาชน เพื่อนำสู่สันติสุขอย่างแท้จริง
การส่งเสริมบาทบาทอาสาสมัครและเครือข่ายการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนในระดับพื้นที่ การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนที่หลากหลายช่องทางและสะดวก การจัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายและการให้บริการประชาชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความเป็นธรรมที่สำคัญร่วมกัน เช่น ของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และสภาทนายความในพื้นที่ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะผู้นำศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น และการให้ความสำคัญการหน่วยปฏิบัติระดับอำเภอเพราะใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่ง ศอ.บต. มีบัณฑิตอาสาเป็นตัวแทนในระดับหมู่บ้านด้วย จะต้องมีการติดตาม การประเมินผล และการมอบบทบาทและภารกิจให้หน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน
เหล่านี้ จึงเป็นข้อสรุปของผลการศึกษาวิจัยว่า ระดับการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับมาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมได้แก่ นโยบายรัฐบาล การเมือง คุณลักษณะของหน่วยปฏิบัติ การสื่อข้อความ การบังคับใช้กฎหมาย ทัศนคติของผู้ปฏิบัติ เศรษฐกิจและสังคม ปัญหาของการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการติดตามงาน สำหรับแนวทางในการพัฒนาการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการนิเทศงานด้านการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่ ผู้นำควรให้ความสำคัญ การสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชน และแนวทางในการอำนวยความเป็นธรรมที่สำคัญ ได้แก่การบูรณาการทุกภาคส่วนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนผู้รับบริการทราบเป็นระยะๆ การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเข้มงวดมากขึ้น การลงโทษข้าราชการที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือทำให้เกิดเงื่อนไขที่ประชาชน
ในที่สุดจึงนำไปสู่ข้อแนะจากการศึกษา ว่า ควรมีการจัดโครงสร้างหน่วยงานที่มีความคล่องตัวและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีรูปแบบที่ชัดเจน และการบูรณาการระหว่าง ตำรวจ ทหาร และพลเรือนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากขึ้น ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงได้โดยสะดวก มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ดี มีการทำงานเชิงรุก และการพัฒนาองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง