ปักหมุดกันเอาไว้แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อ สำหรับ "พรรคฝ่ายค้าน" ที่ยังเหลือ "อาวุธหนัก" เอาไว้เตรียมถล่ม รัฐบาล ตั้งแต่ "หัวขบวน" ไปจนถึง "รัฐมนตรี" ด้วยกันอีกหลายคนที่เข้าข่ายสมควรแก่เหตุ และผลที่จะต้องถูกใส่ชื่อเอาไว้ใน "ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ที่ว่าเป็น "อาวุธหนัก" สำหรับ "พรรคฝ่ายค้าน" ก็ด้วยเหตุที่ หนึ่ง นี่คือการทำหน้าที่ในฐานะ "ฝ่ายตรวจสอบ" การบริหารงานของ "ฝ่ายบริหาร" ตามครรลอง โดยใช้ "เวทีนิติบัญญัติ" ให้คุ้มค่า ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในราวปลายเดือนก.ย.นี้ และสอง นี่คือ "โอกาสทอง" ที่ฝ่ายค้าน หวังจะใช้เวทีสภาฯ ถล่มรัฐบาลให้บอบช้ำมากที่สุด โดยเฉพาะ ตัว "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "แม่ทัพศบค." ที่บริหารนโยบายแก้วิกฤติโควิดได้ล้มเหลวไปเสียทุกๆทาง แต่น่าสนใจว่า ในระหว่างทางของการเดินหน้าใน "พิธีกรรม" การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่ามีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ติดโผรายชื่ออันดับแรก นั้นกำลังดำเนินไปในท่ามกลาง "ความขัดแย้ง" ระหว่าง "พรรคเพื่อไทย" ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน กับ "พรรคก้าวไกล" ที่เปิดฉากซัดกันอย่างหนัก จากการกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เมื่อพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการโยกงบกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทเอาไปใส่ไว้ที่ "งบกลาง" เพราะเสมือนเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" ให้กับรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองกลับมองในมุมที่แตกต่างออกไป ว่าเพื่อต้องการให้นำงบประมาณไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามวิกฤติโควิด -19 ในความเป็นจริงแล้ว "รอยร้าว" ระหว่างสองพรรคใหญ่ ย่อมไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน !! ถ้าเปรียบเป็นเรือ ก็ต้องบอกว่า แม้พรรคเพื่อไทยกับ พรรคก้าวไกลจะ "ลงเรือลำเดียวกัน" แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า "เป้าหมาย" ทางการเมือง ย่อมสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ "แนวคิดอุดมการณ์" ที่พรรคก้าวไกล ที่สอดรับกับ "ม็อบราษฎร" และแกนนำคณะก้าวหน้า นั่นคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่า แนวทางดังกล่าวนี้ มีแต่จะทำให้ พรรคเพื่อไทยในฐานะ ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ย่อมประเมินได้ไม่ยากว่า "เป็นไม่ได้" และที่สำคัญ ยังล่อแหลม สุ่มเสี่ยง เป็นเรื่องที่เปราะบาง เกินไป อย่างน้อยที่สุด อย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทย ที่มี "คนเสื้อแดง" เป็นฐานกำลังนอกสภาฯ ในอดีตก็เคยต้องหักล้าง แก้ข้อกล่าวหา ทั้ง "เผาเมือง" และ "ล้มเจ้า" กันมาแล้ว อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคก้าวไกลแล้ว พวกเขาเองรู้ดีว่าในการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคจะต่อสู้อยู่ตามลำพังในสังเวียนการเมือง เพราะโอกาสที่จะถูกเข้าร่วมรัฐบาลนั้นอาจห่างไกลออกไปทุกที ขณะที่ ส.ส.ในพรรคที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะเลือกอยู่กับพรรค อย่างเหนียวแน่น เพราะ "งูเห่า" ในพรรคก้าวไกล พร้อมที่จะแสดงตัวเมื่อ โอกาสเปิดให้มีการย้ายพรรคได้ตามกรอบเวลา ขณะเดียวกัน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งสุดท้าย สำหรับการต่อสู้ในเวทีสภาฯ กำลังเกิดคำถามว่า จะมีรายการ "ล็อบบี้" เกิดขึ้นทางใดทางหนึ่งตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะกว่าที่จะพรรคฝ่ายค้านจะ "เคาะรายชื่อ" รัฐมนตรี ที่จะถูกซักฟอกร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จะได้ข้อสรุป อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ เมื่อ "งานใหญ่" กำลังเดินหน้าไปบน "ความไม่ไว้วางใจ" ซึ่งกันและกัน อย่างที่เห็น !!