สมบัติ ภู่กาญจน์
“ผมเองแม้จะไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็มีความประทับใจในคติความเชื่อที่ว่า พระเยซูทรงรับบาปของมนุษย์ทั้งปวงด้วยพระมหากรุณา” นี่เป็นข้อเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ผมนำเสนอค้างไว้เมื่อตอนที่แล้ว ก่อนที่จะจบลงด้วยประโยคที่ว่า “ความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้ผมกลัวบาป” ความต่อไปนี้ จะเป็นคำอธิบายว่า เพราะเหตุใด? ขอเชิญอ่านข้อเขียนกันต่อไปครับ
********* *********
“เพราะถ้าเชื่ออย่างเถรตรงว่า ผมทำบาปเท่าไร ก็จะได้รับผลแห่งกรรมตอบแทนเท่ากันอย่างไม่ขาดไม่เกินแล้ว ผมก็อาจจะสบายใจกว่านี้ หรืออาจไม่กลัวบาปกลัวกรรมเลยก็ได้ เช่น อยากกินแกงไก่ ก็ฆ่าไก่มันเลย ไปใช้หนี้ไก่เอาชาติหน้า ถือหลักบินก่อนจ่ายทีหลัง ว่างั้นเถอะ หาความสุขความสบาย หาอำนาจวาสนา หาทรัพย์ใส่ตัวได้ทุกวิธี โดยไม่เลือกว่าใครจะเดือดร้อน ช่างมัน
ก็มันกรรมของเราเองนี่ ชาตินี้ขอเอาดีเข้าไว้ก่อน บาปกรรมเอาไว้พูดกันทีหลัง ถ้าคิดเพียงเท่านี้แล้ว เรื่องบาปกรรม ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นทางยับยั้งการกระทำชั่วของคนได้มากนัก
แต่ ถ้าคำนึงถึงบาปกรรม ด้วยทรรศนะของคนที่นับถือพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว บาปกรรมนั้นออกจะน่ากลัวอยู่เพราะ คนที่นับถือศาสนาพุทธอันแท้จริง ย่อมจะต้องมีเมตตาประจำใจอยู่เสียตั้งแต่เบื้องแรกเมตตา นั้นทำให้นึกถึงคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นได้ทุกข์ เมื่อมีเมตตาแล้วก็จะมีสติ ระลึกได้ว่า กรรมของตนนั้น อาจจะมีผลตกแก่คนอื่นได้อีกด้วย ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้ว บาปกรรมนั้นจะน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่เขามารับกรรม(จากการกระทำของเรา)ด้วยนั้น เขาอาจไม่รู้ตัวเลยว่า เขาต้องมารับกรรมเพาะเหตุใดความทุกข์ของเขาจึงหนักขึ้นอีก เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ใครจะทำบาปกรรมอันใด ก็น่าจะนึกถึงแง่นี้เอาไว้บ้าง ถ้าตัวเองไม่กลัวบาป ก็ขอให้นึกถึงคนอื่น ไม่ต้องดูไกลนัก เอาแค่ตัวเอง ว่า ถ้าหากว่าตัวเราเองเป็นอะไรไป เพราะผลแห่งกรรมที่เราทำ พ่อแม่ลูกเมียญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดกับเรา เขาก็อาจจะเป็นทุกข์ เพราะรับบาปร่วมกับเราเข้าไปด้วยแล้ว ยิ่งถ้าบาปกรรมของเรานั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมือง ถึงแม้ว่าตัวเราคนทำ จะต้องรับบาปขั้นติดคุกติดตะรางหรือถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่ผลเสียแห่งการกระทำของเรา ก็ยังอาจตกแก่บ้านเมืองอยู่ดี บางเรื่อง อาจทำให้คนอื่นอีกหลายสิบล้านคนที่เขาไม่รู้เรื่องด้วย ต้องรับผลเสียหายและเกิดทุกข์มากขึ้นอีก
ผมเองกลัวบาป เพราะเหตุผลนี้ครับ”
********** **********
นี่เป็นข้อเขียนอีกหนึ่งชิ้น ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๕ เป็นไงครับ? มุมมองของคนที่ เข้าใจและนับถือพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เขามองปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งมีทั้งดีทั้งร้าย ด้วยสายตาที่สมกับความหมายของคำว่า พุทธะ กันอย่างไร? ทุกวันนี้ เราขาดมุมมองในส่วนที่จะเป็นทางสร้างสรรค์บวกสันติเช่นนี้อยู่มาก เราจึงมีแต่ความรู้แคบ ความรู้ที่ไม่จริงไม่ชัด ความรู้ที่ถูกยัดเยียดให้เชื่อเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อเกิดศรัทธาขึ้นได้ก็จริง แต่ก็ยังอ่อนด้อยด้วยสติ เพราะขาดการพิจารณาให้รอบด้านถ่องแท้! มลพิษจึงปกคลุมอยู่ทั่วบรรยากาศของพุทธศาสนาในสังคมไทยในปัจจุบัน ผมอยากย้ำอีกครั้ง ให้ท่านผู้อ่านระลึกว่า ข้อเขียนนี้เขียนขึ้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2515
ณ ขณะที่ โลกในวันเวลานั้นกำลังเปลี่ยนแปลงใหญ่ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนนโยบายที่ตนมีต่อจีนแดง หลังจากที่รบสงครามเวียดนามไม่ชนะมานานหลายปี ความคิดของคนทั้งนอกประเทศและ
ในประเทศกำลังปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เหล่านี้ไปด้วย ส่วนโลกในเมืองไทยนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรกำลังปฏิวัติตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่พยายามเดินตามโรดแมปประชาธิปไตยมาหลายปีแล้ว ด้วยความคิดแบบเก่าๆก่อนโลกเปลี่ยน แต่ผลของความพยายามยังไม่มีอะไรดีขึ้นมา
ขณะที่ฝ่ายความคิดใหม่ ก็กำลังเริ่มสั่งสมแนวความคิดใหม่ ฝ่ายความคิดเก่า ก็ยังคิดแบบเก่าๆ ว่าตนเองมีอำนาจ ถ้ายังมีอะไรที่เหนือกว่าอำนาจอีกก็ขอให้โผล่มา
ในช่วงเวลาเหล่านี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ พยายามบอกผู้คนอยู่เนืองๆถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยมุมมองทางโลก – ทางธรรม - และทางไทย เท่าที่จะทำให้คนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สามารถอ่านได้โดยไม่เห็นเป็นเรื่องทางวิชาการที่น่าเบื่อ หรือไม่เห็นว่าเป็นความเห็นเพื่อเชียร์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ เวลาผ่านมาแล้ว 44 ปี
โลกจะหมุนกลับไปสู่บริเวณ ‘พื้นที่อากาศไม่ปกติ’เหมือนเดิมอีกหรือเปล่า ไม่มีใครรู้? แต่ผมยังมีคำเตือนอีกสองชิ้นที่อยากนำเสนอ - เผื่อจะมีใครสนใจในอนาคตของสังคมไทย ว่าควรจะดีกว่า อดีตบางอย่างที่เราเคยผ่านมาแล้ว!