สภาหอการค้าทั่วประเทศ จัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 35 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อหลายวันก่อน มีข้อเสนอแนะการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงนโยบายที่น่าสนใจหลายข้อที่มีเนื้อหาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการกระจายรายได้และเพิ่มมูลค่า บทบาทที่เหมาะสมของสภาหอการค้าทุกจังหวัดนั้น มิใช่มีแค่เพียงบทบาทของ “ผู้ประกอบการ” หรือ “นายทุน” เท่านั้น นั่นคือมิใช่คิดแต่เรื่องวิธีให้ธุรกิจของตนประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ควรมีภารกิจสนับสนุนให้พลเมืองในจังหวัดมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นด้วย การให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายรายได้จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่ง ผลการสัมนา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอแนวคิดพัฒนาด้านการเกษตรและอาหาร เป็นมาตรการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาด 2.การเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร/สหกรณ์ ด้วยการให้ความรู้ด้านการผลิต ด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3.การสร้างและขยายผลมาตรฐานสินค้า 4.การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม (Value Added) 5.การตลาดนำการผลิต โดยศึกษาความต้องการของตลาดแล้วเริ่มกระบวนการผลิต มาตรการเหล่านี้เราเห็นด้วย และก็ได้เรียกร้องมาตลอดในระยะหลายปีมานี้ สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องมีปกิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่แค่เพียงเป็นวาทกรรมในที่ประชุมเท่านั้น การแก้ปัญหาของเกษตรกรประเด็นที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องเร่งยกระดับอุตสาหกรรมด้านเกษตรอย่างรอบด้าน มิใช่แต่เฉพาะเรื่อง “อาหาร” เท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมา “เพิ่มมูลค่า” ของสินค้าเกษตรปฐมภูมิให้มากขึ้น ปัญหาใหญ่และเรื้อรังของเกษตรกรรายย่อยไทยคือ สินค้าเกษตรปฐมภูมิมักราคาตกต่ำ ยกตัวอย่างปัญหาราคาน้ำยางพาราในขณะนี้ ไทยผลิตน้ำยางพาราได้มาก แต่ส่วนใหญ่ขายเป็นวัตถุดิบซึ่งราคาต่ำ ไม่มีอุตสาหกรรมต่อยอดนำน้ำยางพารามาผลิตเป็นสินค้าที่มีตลาดต้องการ และมีราคาสูง ปัญหาราคาข้าว , มันสำปะหลัง ,ข้าวโพด ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ขับเคลื่อนสู่เมืองนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหารให้มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นแนวทางที่ดี แต่อุตสาหกรรมเกษตรแนวอื่น ๆ ก็สำคัญเช่นกัน รัฐและภาคเอกชนจึงต้องให้ความสำคัญเท่ากับอุตสาหกรรมอาหารด้วย