สถาพร ศรีสัจจัง
ปัญหาหนึ่งที่เคยพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ในทำนองเป็นห่วงเป็นใยของ “คนในระบบ” หรือ “คนในวงการศึกษาและวัฒนธรรม” ที่มีต่อ “คนรุ่นใหม่” ในสังคมไทยก็คือปัญหา “ภาษาวิบัติ” แต่เอาไปเอามา เรื่องนี้ก็เป็นคล้าย “เสียงนกเสียงกา” ในสังคมไทย คือ “หายไปในสายลม” คือ ไม่สามารก่อกระแสต้าน “วัฒนธรรมกระแสหลัก” ที่โหมกระหน่ำมาพร้อมกับพลังอำนาจของ “ระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก” คือระบบทุนนิยมผูกขาดของบรรดาชาติจักรวรรดินิยม( Imperialist)สมัยใหม่ทั้งหลายได้
ในแง่ของ “วัฒนธรรมทางภาษา” ( Language culture)ซึ่งในโลกปัจจุบัน “องค์การสหประชาชาติ” ถือว่าเป็น “อัตลักษณ์” ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง ในการสำแดงถึง “ความมีอยู่” ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ซึ่งเป็น “กฎแห่งดุลยภาพ” ที่สำคัญมากประการหนึ่งคู่กับการดำรงอยู่ของโลกมนุษย์และโลกชีวภาพ
หลังจากชนชั้นนำทางสังคมของไทย(จากหลักฐานที่ปรากฏคือยุค “สุโขทัย”)ได้ “พัฒนา” ภาษา เขียนขึ้นเป็น “อัตลักษณ์” จำเพาะของ “กลุ่มคนไทยในแถบสุวรรณภูมิ” ขึ้นได้แล้ว ก็พบว่าความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงสากลที่กว้างขวางเพื่มขึ้นเรื่อยๆ กดดันทำให้ภาษาของชนกลุ่ม “คนไท” นี้ที่เรียกกันภายหลังว่า “ภาษาไทย” ต้องอนุโลมรับเอาภาษาของชนกลุ่มอื่นเข้ามา “ผสมผสานเชิงบูรณาการ” ( Integrate) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเงื่อนไขวันเวลาแห่งความสัมพันธ์เชิงสังคมระหว่างชนชาติ
แต่เดิม เรามักได้รับอิทธิพลจาก “วัฒนธรรมเจ้าใหญ่” ที่มีอิทธิพลทางการวัฒนธรรมโดยตรงกับเรา คือกลุ่มชนชาวชมพูทวีปที่เรียกว่า “อินเดีย” เป็นหลัก เพราะเรารับเอาวัฒนธรรมทางศาสนา คือศาสนาพุทธ ให้เข้ามามีบาททางสังคมแทน “ลัทธิบูชาผีและสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ” ซึ่งเคยมีบทบาทเป็นด้านหลักมาก่อน
ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธโดยตรง จึงมีบทบาทในการช่วย “สร้างสรรค์” การใช้ประโยชน์ของภาษาไทยให้กว้างขวางและ “สมสมัย” มากขึ้น
ภายหลัง เมื่อเกิดสภาวะ “กระแสลมเปลี่ยนทิศ” จักรวรรดินิยมตะวันตกยุคแรก ที่มีชาติมหาอำนาจในกลุ่มยุโรป เช่น อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นกลุ่มนำ ได้ใช้ศักยภาพจากการสามารถพัฒนาคิดค้นสร้างเครื่องมือเพื่อ “ดัดแปลงโลกธรรมชาติ”(ภายหลังเรียกว่าการคิดค้นทาง “วิทยาศาสตร์”) ได้ก่อนชาติอื่นๆในโลกตะวันออกทั้งหลาย ก่อกระบวน “รุกรานโลก” ขึ้น(พื้นที่ๆอยู่ใน “ยุคเก่า” ทั้งหมด ทั้งเอเซีย อาฟริกา และลาตินอเมริกา) เพื่อแสวงหวัง “กำไร” (ทั้งจากผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการขยายตลาดสินค้า) โดยแปรสภาพให้ดินแดนที่เคยเป็น “ดินแดนเสรี” เหล่านั้นกลายเป็น “อาณานิคม” (Colonial)ไปแทบทั้งหมด(ส่วนใหญ่โดยนโยบาย “เรือปืน”)
ในอเซียอาคเนย์(ที่กลายเป็นอาเซียนในปัจจุบัน)นอกจาก “สยาม” หรือ “Thailand” ในปัจจุบันแล้ว ดูเหมือนไม่มีประเทศใดที่รอดพ้นไปจากสถานะนั้นเลย แม้ประเทศใหญ่ๆในเซีย อย่างเช่น จีนและอินเดีย ก็เถอะ!
จึงอาจกล่าวได้ว่า “กระแสลมตะวันตก” ที่โถมกระหน่ำถล่มครอบโลกในห้วงเวลานั้นนั้นล้นทะลัก ไปด้วยความแรง ประเทศที่ล้าหลังทางเทคโลยีกว่า อันเปรียบเสมือนต้นไม้น้อยใหญ่ทั้งหลายต้องค้อมยอมลู่ตามกระแสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้'!
การสูญเสียเอกราชอำนาจนำทางเศรษฐกิจการเมืองในครั้งกระนั้น คือยกแรกของการเริ่มสูญเสียเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติเล็กชาติน้อยทั้งหลาย!
เพื่อให้ชาติสามารถดำรงอิสรภาพอยู่ได้ เพื่อให้สามารถดำรง “อัตตวินิจฉัยประชาติ” อยู่ได้ ชนชั้นนำของ “สยาม” ในยุคนั้น ซึ่งแน่ละ ก็ย่อมคือพระมหากษัตริย์และบรรดาเสนามาตย์ชั้นผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ “กุศลโลบาย” (อุบายที่เป็นกุศล) สติปัญญา และยุทธวิธี(ที่บางครั้งแสนจะต้องเจ็บปวด เช่นกรณี ร.5 ทรงแก้ปัญหาการยึดครองไทย และการเรียกร้องเงินค่าปรับของฝรั่งเศส กรณี “ความขัดแย้ง ร.ศ.112” เป็นต้น) และ “กระบวนการคิด” อันหลากหลาย เพื่อ “ตั้งรับ” จนสามารถนำพาชาติรอด “ปากเหยี่ยวปากกา” คือบรรดา “จักรวรรดินิยม” อันตะกละและต่ำช้าสามานย์มาได้หลายครั้งหลายหน!
ที่กล่าวมา เป็นเพียง “การปะทะสังสรรค์” ในยกแรกๆของสังคมไทยกับ “กระแสลมสามานย์จากตะวันตก” เท่านั้น หลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วต่างหาก ที่ “กระบวนการครอบงำโลก” ของมหาอำนาจแห่งระบบทุนนิยมเสรีขั้นสุดท้าย ที่เป็นโฉมหน้าอันแท้จริงของความเป็น “จักรวรรดินิยม” ภายใต้การนำของจักรวรรดินิยมตัวใหม่ที่ชื่อ “สหรัฐอเมริกา” และเหล่าสมุน สามารถเข้ามา “ยึดครอง” สังคมไทยได้อย่างชนิดที่อาจเรียกได้ว่า “เบ็ดเสร็จ” ดังปรากฏ “รูปการความคิด” ของบางเหล่าบางฝ่ายในสังคมไทยปัจจุบัน
แล้วสิ่งที่เรียกว่า “เรียน” กับ “เลียน” เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ละ?