รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต การท่องเที่ยวไทยเป็นความหวังแรกสุดเพื่อฉุดเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวมาโดยตลอดก่อนการมาถึงของ โควิด-19 นอกเหนือไปจากการส่งออก เนื่องด้วยการท่องเที่ยวช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนต่อยอดไปได้ไกลถึงฐานรากและเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากกว่า 4 ล้านคนในหลากหลายกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจการซื้อขายสินค้า แต่พอมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาเท่านั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมาทั้งเยียวยาและบำบัดรักษา เพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งแบบ Domestic หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวของผู้ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศที่เป็นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในประเทศและการท่องเที่ยวต่างประเทศที่เกิดขึ้นในประเทศ และ Inbound หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวของผู้ที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในประเทศแต่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ดูแล้วยังไม่เป็นผลเท่าที่คาดหวังไว้มากแต่อย่างใด เมื่อประมวลปัญหาใหญ่ ๆ ของการท่องเที่ยวไทยในช่วงเวลานี้ อาทิ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นำร่องท่องเที่ยวยังประสบปัญหา นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กล้าเดินทางมาไทย นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวขาดสภาพคล่อง มาตรการล็อกดาวน์กระทบต่อการเดินทางข้ามจังหวัด คนทำงานท่องเที่ยวตกงานจำนวนมาก ฯลฯ ล้วนมีสาเหตุมาจาก “การแพร่ระบาดของโควิด-19” ความกลัวติดโควิด-19 เพราะกว่า 20 วันที่ผ่านมาพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักหมื่นต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต “นิวไฮ” เกือบถึงสองหมื่นคนและเกือบถึงสองร้อยราย ประกอบกับการประเมินตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โดยพยากรณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อทะลุ 3 หมื่นคนต่อวัน ในเร็ว ๆ นี้ หากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของรัฐบาลล้มเหลว ด้วยตัวเลขที่มากและมาไกลขนาดนี้ยิ่งจะเป็นสิ่งกีดขวางสำคัญที่สกัดการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนทุกช่วงวัย ทุกเพศ และทุกเชื้อชาติ แต่ด้วยใจจริง ๆ แล้วก็มิได้อยากเห็นภาพการท่องเที่ยวไทย ‘ทรุด ล้ม และตาย’ เซ่นโควิด-19 เพราะจะกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ตายนานและฟื้นคืนยากกว่าทุกวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศเคยเผชิญมาในอดีต และสุดท้าย “ประชาชนคนไทย” ก็คงหนีไม่พ้นความทุกข์ยาก กลัวจริง ๆ ครับ ห่วงใยจริง ๆ ครับ!!! ไม่อยากเห็นภาวะการฆ่าตัวตายที่เป็นผลจากโควิด-19 และเศรษฐกิจพัง... การท่องเที่ยวไทยนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยสูง คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี ซึ่งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) คาดว่าช่วงสองปีที่โควิด-19 มาเยือนนี้ จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศหดหายไปเป็นเงิน 4.514 ล้านล้านบาท แล้วจะทำอย่างไร? เพื่อกอบกู้วิกฤติท่องเที่ยวไทย… มาตรการเดียวที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยเกิดและโตใหม่ (Rebirth & Regrowth) อีกครั้ง คงไม่หนีพ้น “การจัดการโควิด-19” ให้สำเร็จโดยรวดเร็ว เมื่อโควิด-19 ถูกมองว่าเป็น ‘ศัตรูร้ายที่สำคัญมากสุด’ ที่หยุดกิจกรรมท่องเที่ยวไทย ณ เวลานี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไทยและเทศให้กลับคืนมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทยที่ผวาหนักกับโควิด-19 จนอั้นการเดินทางท่องเที่ยวกันมาพักใหญ่ ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ก็เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางข้ามจังหวัด สำหรับมาตรการอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมการไปพร้อม ๆ กันในเวลานี้เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยกลับมามีชีวิตชีวาใหม่หลังโควิด-19 (Post Covid-19) ผ่านพ้น เช่น ตั้งกองทุนช่วยเหลือและสนับสนุนภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ เยียวยาถ้วนหน้า พัฒนาการท่องเที่ยวให้มีจุดขายหรือแลนด์มาร์กใหม่ ๆ พัฒนาคุณภาพบริการการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น แก้ไขปัญหาการหลอกลวงหรือโกงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมและกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันโครงการแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่อื่น ๆ ส่งเสริมมาตรการการท่องเที่ยวปลอดภัยแบบนิวนอร์มอล ส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ เช่น นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง ฯลฯ ทั้งนี้ นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเคยกล่าวไว้ว่า “ภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังเฝ้าจับตารอดูสถานการณ์ด้านสุขอนามัยอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมและสมดุลที่สุดเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมั่นใจได้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นอยู่บนมาตรฐานของความปลอดภัย สามารถสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเป็นกลไกที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างสมบูรณ์” หวังว่าความหวังของท่านรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นจะเป็นจริงในปลายปีนี้หรืออย่างช้าก็ต้นปีหน้าครับ... หวังอย่างนั้นจริง ๆ