กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8-1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งการเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้ คาดว่าสถานการณ์โควิดจะเพิ่มสูงสุดช่วงกลางเดือน สิงหาคม-กันยายน และจะปรับลดลงมาก่อนเดือน ตุลาคม หรือก่อนไตรมาส 4 ของปีนี้ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์แพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายได้เร็วกว่าคาดการณ์ สถานการณ์โควิดอาจจะยืดเยื้อออกไปถึงเดือนตุลาคมได้ แต่หากมีการเร่งฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยได้มีการประมาณการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้านโยบายรัฐและกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มติชนออนไลน์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 รยงานว่า นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้าและปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียง ประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ทำให้การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีกสามเดือน
ในกรณีฐานได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 เหลือ 0.5% ส่วนในกรณีที่การระบาดรุนแรงกว่า การล็อกดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์ จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว ติดลบ 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้
อย่างไรก็ตาม รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาเตือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ขณะที่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้น ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงเพราะปัญหาปากท้องกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นด้วย
จากคำเตือนของไอเอ็มเอฟดังกล่าว เมื่อหันมามองบรรยากาศของประเทศไทย แม้การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงในห้วงที่ผ่านมาจะไม่ได้มีปัจจัยจากปัญหาปากท้องเป็นหลัก แต่มีโอกาสที่ปัญหาดังกล่าวจะปะทุขึ้นมาในไม่ช้า การสร้างงานรองรับผู้ตกงานให้ครอบคลุมและทั่วถึงแบบเชิงรุก จะเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมือง