เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
การรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้มีนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐบาล ไปถึงจังหวัด ชุมชนและบุคคล โดยเฉพาะในภาคธุรกิจเอกชน เพราะวิบากกรรม ความจำเป็น ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ วิกฤติครั้งนี้มีเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ถูกกลบด้วยข่าวร้าย ข่าวปลอม ข่าวที่พิสูจน์ไม่ได้ เต็มไปหมด
ในช่วงแรกๆ ที่มีการระบาดหนักในสหรัฐและยุโรปนั้น ทุกประเทศมีปัญหาในการรับมือ เพราะโรคระบาดที่แพร่กระจายเร็ว ไม่มียา ไม่มีวัคซีน เตียงคนไข้หนักไม่พอ อุปกรณ์การแพทย์ขาด อย่างเครื่องช่วยหายใจ ชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
ไม่นานข่าวเหล่านี้ก็ลดลงและหายไป เพราะได้มีวิธีการจัดการ ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน มีการปรับโรงงานเอกชนให้ผลิตเครื่องช่วยหายใจจนมีเพียงพอ ผลิต PPE โดยท้องถิ่นต่างๆ ดำเนินการเอง ไม่ได้รอให้รัฐบาลกลางจัดการให้ทุกอย่าง มีการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนจนมีเพียงพอ
เมื่อยังไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์เองก็ได้ทดลองใช้ยาที่มีอยู่รักษาตามอาการ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง จนกระทั่งได้วัคซีน ซึ่งมีการทดลองทั่วโลกมากกว่าร้อยโครงการ ที่ผลิตออกมาได้รับการรับรองแล้วก็มีนับสิบ เกิดนวัตกรรมใหม่ในการผลิตวัคซีนที่เรียกว่า mRNA ที่ไม่ใช้วิธีการเดิม แต่ก็ต้องรอดูผลในระยะยาวว่าจะ “คุม” ได้นานแค่ไหน และจะเกิดผลข้างเคียงหรือไม่
อย่างไรก็ดี ความพยายามในการสร้างสิ่งใหญ่ๆ ก็ไม่ได้ผลเสมอไป อย่างการลงทุนมหาศาลในการผลิตวัคซีนของหลายบริษัท/สถาบัน อย่าง CureVac ที่เยอรมนี ที่เคยเป็นความหวังสูงสุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นประเภท mRNA ไม่นานมานี้ มีการประกาศผลการวิจัยพัฒนาว่ายังไม่ได้ผล ทำให้หุ้นบริษัทนี้ตกอย่างหนัก หลายฝ่ายคาดว่า เงินลงทุนหลายหมื่นล้านอาจหายไป ขณะที่หุ้นของบริษัทวัคซีนที่กำลังนิยมกันกลับพุ่งแรง เห็นว่าทำเงินได้เป็นล้านล้าน ดังข่าวของ Pfizer/BioNTec ความร่วมมือของเยอรมนีกับสหรัฐ ซึ่งก็เป็นประเภท nRNA เช่นกัน
ในบ้านเราก็มีนวัตกรรมมากมาย แต่นโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จนกลบเรื่องราวดีๆ ไปเกือบหมด เป็นปัญหาการประชาสัมพันธ์ ขาดการสร้าง “เวที” หรือแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลข่าวสารเรื่องเล่าดีๆ เพื่อสื่อสารกับประชาชน
ในระดับจังหวัดก็เช่นเดียวกัน มีการริเริ่มสร้างสรรค์มากมาย ซึ่งถ้าหากมีการแพร่กระจาย แลกเปลี่ยนข้อมูลดีๆ เหล่านี้ ก็จะมีประโยชน์ไม่น้อย ที่เป็นข่าวก็มีไม่กี่จังหวัด อย่างผู้ว่าฯ ลำปาง ที่มีแผนการแก้ปัญหาโดยจัดการให้มีการรับผู้ป่วยคนลำปางมาดูแลที่จังหวัดเอง ทำให้หลายจังหวัดได้แนวทางไปปฏิบัติ
ที่จริง ระดับจังหวัดมีความสำคัญมาก เพราะมีระบบโครงสร้างทางราชการที่ชัดเจน มีอำนาจการสั่งการของผู้ว่าฯ นายอำเภอ ที่ดูแลพื้นที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป มีกำลังคนไม่น้อย แม้ว่าแพทย์พยาบาลอาจจะจำกัดถ้าหากมีการระบาดหนัก และจำนวนผู้ป่วยหนักมีมากจนไม่มีเตียงที่โรงพยาบาลรองรับ
ในระดับตำบลก็มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล มี อสม. อยู่ทุกหมู่บ้าน ซึ่งวันนี้ก็มีเรื่องราวดีๆ มากมายส่งไปตามโซเชียลมีเดีย แต่ก็ไม่มีศูนย์รวมข่าวดีๆ เหล่านี้ มีแต่กระจายไปตามทีวีช่องต่างๆ ที่เลือกแต่ข่าวร้ายหรือข่าวดีแบบพิสดาร แต่ที่ดีๆ ธรรมดาแต่มีคุณค่ามักจะไม่นำไปเผยแพร่ เพราะต้องการเรื่องแปลก อย่างกรณีการจัดการกักตัวในชุมชน (community isolation) ที่ทำกันมากมายหลายแบบ เรื่องดีๆ ทุกระดับเป็นแนวปฏิบัติดีเยี่ยม (best practice) ที่ควรได้รับการเผยแพร่ จะสร้างแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ
ความจำเป็นทำให้เกิดนวัตกรรมก็จริง แต่บางอย่างก็ยากต่อการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ อย่างกรณีวิธีการรักษาอาการจากโควิดด้วยสมุนไพรต่างๆ ซึ่งมีมากมาย จนไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรดี เพราะสถาบันหรือองค์กรที่จะรับรองก็ไม่มี หรือมีคนก็ใช่ว่าจะเชื่อ แม้แต่ฟ้าทะลายโจรก็ใช้เวลานานมากกว่ารัฐบาลจะให้ใช้และให้มีการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะการแพทย์หลักไม่สามารถจัดการกับการระบาดหนักนี้ได้แล้ว
โดยภาพรวม ข้อดีของวิกฤติโควิดครั้งนี้ก็มี ทำให้คนเราหันมาดูแลสุขภาพของตนดีขึ้น เพราะหวังแต่พึ่งหมอพึ่งยาและวัคซีนคงไม่พอ ทำให้รู้ว่าต้องล้างมือบ่อย สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่ “อโคจร” และระวังการจับต้องสิ่งของต่างๆ ที่คนอื่นจับต้องมาก่อน ฯลฯ
มีการวิจัยที่สิงคโปร์บอกว่า เมื่อปีที่ผ่านมา อานิสงส์ของการระบาดโควิดทำให้คนดูแลสุขภาพของตนดีขึ้น จนสามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ถึงร้อยละ 76 ในช่วงที่ระบาดทุกปี ข้อนี้ทำให้สิงคโปร์กล้าประกาศว่า ต่อไปเมื่อคนเกิดภูมิต้านทานโควิด-19 ซึ่งมีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ และดูแลสุขภาพตนเองดีอย่างที่ทำอยู่ คนสิงคโปร์ก็จะอยู่ร่วมกับโควิดได้ (living with covid) เหมือนกับที่อยู่ร่วมกับไข้หวัดใหญ่ที่มาทุกปี
คนเราเรียนรู้และปรับตัวได้ แต่ควรหาวิธีการให้มี “เวทีการเรียนรู้” (learning platform) เริ่มจากการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ดี มีคนช่วยประเมิน วิเคราะห์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่มีเพียงสองทางอย่างวันนี้ ที่ถ้าไม่ใช่วิจารณ์แบบแช่ง ก็วิจารณ์แบบเชียร์ จนรัฐต้องมีมาตรการเข้มมา “คุม” อย่างที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
เงื่อนไขสำคัญเพื่อการสร้างนวัตกรรม คือ การส่งเสริมสนับสนุนของรัฐ ที่เปิดใจกว้าง ไม่ครอบงำ ไม่จำกัด กระจายอำนาจ ส่งเสริมให้ชุมชนดูแลตนเองด้วยทุนท้องถิ่น ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ซึ่งมีเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างพอเพียงได้ถ้ามีการจัดการให้ดี
มีแพทย์แผนไทยแผนโบราณ มีสมุนไพร ภูมิปัญญาในการดูแลรักษา มีความเป็นพี่น้องที่ช่วยเหลือเกื้อกูล มองในแง่บวก โควิดอาจเป็น “โชคดีที่มากับโชคร้าย” (blessing in disguise) ซึ่งเพื่อเอาตัวรอดทำให้คนหันมาสร้างนวัตกรรม คิดหาวิธีเพื่อพึ่งตนเองให้มากขึ้น