สมบัติ ภู่กาญจน์ จากแนวคิดของเบอร์แทรนด์ รัสเซ็ล นักคิดชาวอังกฤษ อาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชก็เสนอต่อด้วยแนวคิดของเฮ็ลมุต เชิค นักคิดชาวเยอรมัน แห่งมหาวิทยาลัยโยฮัน กูเต็นเบิร์ก เมืองแมนซ์ ประเทศเยอรมนี ด้วยข้อเขียน(ต่อจากตอนที่แล้ว) ดังนี้ แนวความคิดของเชิคนั้น เคลื่อนที่จากปรัชญาการเมืองเข้าสู่จิตวิทยาสังคม เชิคไม่ได้มองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้แสวงหาอำนาจอย่างรัสเซ็ล แต่มองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ริษยา เชิคมองมนุษย์อย่างมองจากข้างในออกไปข้างนอก มิใช่มองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เขาพยายามชี้ให้เห็นตัวอกุศลมูล ที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกต่ออำนาจต่อความสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่น และต่อระบบแห่งสังคม เชิคเริ่มต้นด้วยความเห็นว่า มนุษย์นั้นตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความริษยามาตั้งแต่เริ่มต้น นับตั้งแต่ความอิจฉาเล็กๆน้อยๆภายในครอบครัวเป็นต้นไป มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความริษยารุนแรงกว่าสัตว์โลกอื่นๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมนุษย์มีระยะเวลาแห่งความเป็นเด็กมากกว่าสัตว์โลกอื่นๆ และความเป็นเด็กอันยาวนานนี้เองได้เปิดโอกาสให้มนุษย์มีความอิจฉาริษยาเล็กๆน้อยๆในครอบครัวมากกว่าสัตว์อื่น จนความริษยานั้นฝังลึกเข้าไปในใจของมนุษย์ คนที่มีความริษยานั้น จะมีแต่ความรู้สึกทางลบอยู่ในใจ ซึ่งบางทีก็เป็นความคิดที่จะทำลายสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป คนริษยาจะต้องการทำลายเหตุแห่งความริษยาของตนที่มีอยู่ในคนอื่น เช่นทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติคุณ เรื่อยไปจนถึงตำแหน่งฐานะในทางสังคม ฯลฯ ถ้าทำลายได้เมื่อไรก็จะทำ โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอื่นๆทางสังคมที่จะติดตามมา เชิคยกตัวอย่างไว้ว่า “ นักการเมืองที่มีความริษยานั้น ชอบที่จะเห็นสังคมที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำ มากกว่าสังคมที่มีรายได้เฉลี่ยสูง แต่มีคนร่ำรวยรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ” เชิคเชื่อว่า ความริษยาเป็นแรงผลักดันซึ่งเกาะอยู่ที่แกนแห่งชีวิตของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งสังคม และเชิคชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญในบทบาทของความริษยานี้ ว่ามีอยู่สองประการ คือ 1. ความริษยานั้น ไม่มีอยู่ในระหว่างกลุ่มชนที่มีความแตกต่างกันมาก แต่จะมีอยู่ในกลุ่มชนที่มีความแตกต่างกันน้อยหรือใกล้เคียงกันซึ่งมีความแตกต่างกันในทางเศรษฐกิจและสังคมแต่เพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างแบบไทยๆให้เห็นได้ว่า กรรมกรผู้อยู่เรือนไม้สองห้องใต้ถุนสูงในเนื้อที่ดิน 40 ตารางวา จะไม่ริษยาเศรษฐีผู้อยู่ตึกใหญ่หลายชั้น มีห้อง 15 ห้องในที่ดิน 2 ไร่ติดๆกัน แนวคิดนี้ออกจะน่าสนใจ เพราะนักการเมืองที่ชอบพูดเรื่องความแตกต่างในสังคม มักจะชอบเอาคนที่อยู่ในระดับต่ำสุดมาเทียบกับคนที่อยู่ในระดับสูงสุดเสมอ โดยไม่คำนึงว่าตนเองก็อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงหรือเช่นเดียวกัน เชิคเขียนไว้ว่า “ความริษยานั้น ถ้าหากว่าไม่ถูกนำมาใช้ปลุกปั่นความคิดในทางการเมืองแล้ว ก็จะมีอยู่มากเฉพาะในระหว่างชนชั้นที่มีความใกล้เคียงกันมากในสังคมเท่านั้นเอง” ( ในต้นฉบับเดิม ข้อเขียนตอนที่สองหมดเนื้อที่แต่เพียงแค่นี้ ก่อนจะด้วยเนื้อความตอนที่สาม ที่มีความต่อเนื่องดังนี้) “ ลักษณะต่อไปของความริษยา คือ 2. ผู้ที่มีความริษยาอย่างแท้จริง จะไม่เข้าร่วมในการแข่งขันที่ยุติธรรมและเปิดเผย ลักษณะนี้มีความสำคัญเหมือนกัน เมื่อคำนึงถึงพลังต่างๆในทางสังคมและในทางการเมือง เป็นต้นว่า ขณะที่ฝ่ายหนึ่งกำลังทำประโยน์ได้ดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยความวิริยะอุตสาหะ หรือความชำนาญหรือด้วยการริเริ่มที่ถูกต้อง หากอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่แข่งนั้นมีความริษยาอยู่ในใจ ฝ่ายหลังก็จะไม่แข่งขันด้วยวิริยะอุตสาหะ ความรู้ความชำนาญหรือการริเริ่มที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน แต่จะแข่งทางด้านอื่นๆ เช่น ลูกไม้ทางการเมือง ด้วยการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ หรือด้านศาล หรืออาจะมีได้แม้กระทั่งด้านไสยศาสตร์ ตามความเห็นของเชิค อัตราความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจก็ดี ด้านการริเริ่มสิ่งใหม่ๆก็ดี หรือแม้แต่สภาวะหรืออารยธรรมเองก็ดี จะอยู่ในอัตราหรือระดับสูงสุด ในพื้นที่ที่ผู้ถืออำนาจปกครองประเทศหรือประชาชนมีความริษยาน้อยที่สุด และไม่ให้ความสนใจกับกลุ่มริษยาต่างๆที่มีอยู่ในประเทศ ความไร้ริษยา หรือความไม่สนใจต่อผู้ริษยา จะลดการคุกคามข่มขู่ การเหยียบเรือสองแคม การขัดกันด้วยสาเหตุต่างๆ ตลอดจนความบาดหมางในสังคม ให้ลดน้อยถอยลงหรือหมดสิ้นไป ความสามัคคีกลมกลืนจะทำให้การพัฒนาเกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งในทางตรงกันข้าม สังคมใดที่มีความริษยามาก สังคมนั้นก็จะเติบโตล่าช้า หรือไร้การพัฒนาเท่าที่ควรจะมี อ่านความคิดมาถึงตรงนี้ แล้วทำให้คิดถึงเพลงยาวพระนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ที่ท่านระบุชัดไว้ว่า กรุงศรีอยุธยานั้นล่มจมลงไปก็เพราะผู้ปกครองหรือข้าราชการ “ มิรู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา” ข้อเขียนตอนที่สามของอาจารย์คึกฤทธิ์ยังไม่จบ แต่ข้อเขียนของผมมีปัญหาเรื่องพื้นที่ จึงขอนุญาตตัดตอนไว้แต่เพียงแค่นี้ก่อน และขอใช้พื้นที่ที่เหลือย้ำอีกครั้งว่า ความคิดเหล่านี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ เขียนลงคอลัมน์ไว้เมื่อต้นปี 2518 ยุคที่แนวคิดทางสังคมนิยมกำลังเป็น ‘ของเห่อ’ และเป็น ‘ความฝัน’ ของชนชั้นปัญญาในสังคมไทย คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งในขณะนั้นไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นปัญญาชน จะหนุนหรือจะค้าน ‘ความฝัน’ นี้ด้วยความเห็น(หลังจากที่โดดลงมาเล่นการเมืองยกแรกก็พบกับความผิดหวัง)อย่างใดแค่ไหน? ขอเชิญติดตามกันต่อไปในสัปดาห์หน้า อดีต อาจนำมาใช้ประโยชน์กับปัจจุบันได้เสมอ ตราบใดที่ผู้ใช้จะมีปัญญา และฉลาดที่จะคิด!