ทวี สุรฤทธิกุล
กุนซือคือคนที่ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนกุนเชียงมักจะทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ
วิกฤติคิวบาเมื่อ พ.ศ. 2505 จบลงอย่างโล่งใจ ก็ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล “อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ของโรเบิร์ต แมคนามารา ที่ชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียหากมีการยิงขีปนาวุธเข้าใส่กัน ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตรัสเซีย เขาใช้ข้อมูลที่สมัยนี้เรียกว่า “การฉายภาพ” หรือ Projectile Technic คือแสดงตัวเลขการสูญเสียที่มีการ “ขยายตัว” ออกไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่จำนวนทหารที่ตายและบาดเจ็บ พลเรือน สิ่งก่อสร้าง และทรัพยากร อันรวมถึงงบประมาณ และผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว วิธีการแบบนี้ทำให้ผู้ตัดสินใจ “มองเห็นภาพ” และเข้าใจผลที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทำให้ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯต้องหันหน้ามาเจรจากัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่ “สยดสยองยิ่ง” ดังที่แมคนามารานำเสนอ
ตัดฉากเข้ามาที่ภาพยนตร์เรื่อง Path to War รุ่งขึ้นหลังจากงานเลี้ยงเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีจอห์นสัน รัฐมนตรีกลาโหมแมคนามาราก็ได้รับโทรศัพท์จากหน่วยที่ปรึกษาของสหรัฐฯในเวียดนามใต้ว่า มีการโจมตีจากพวกเวียดกง(ชื่อเรียกขบวนการกองโจรก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ) ทำให้มีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯเสียชีวิต 8 ราย และบาดเจ็บอีกนับร้อย นายพลเวสต์มอแลนที่บัญชาการกองทัพสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกเสนอให้ทำการตอบโต้ เพื่อ “สั่งสอน” เวียดนามเหนือ ซึ่งแมคนามาราได้ซักถามนายพลเวสต์มอแลนอย่างละเอียดว่า จะต้องใช้ทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ ที่รวมถึงงบประมาณด้วยนั้นเท่าใด ซึ่งนายพลเวต์มอแลนก็ “ประมาณการ” มาให้จำนวนหนึ่ง แต่แมคนามาราก็ยิ่งซักถามให้ชัดเข้าไปอีก ที่สุดแมคนามาราก็เสนอตัวเลขทั้งหมดนั้นในที่ประชุมด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีจอห์นสัน โดยเห็นด้วยเพียงบางส่วนกับกองแปซิฟิก โดยมีหลักการว่าต้องเป็นไปทีละขั้น (มีการนำเสนอฉากการชี้แจงเรื่องตัวเลขในขั้นตอนต่าง ๆ นั้นอย่างละเอียด แต่เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องจุกจิกเกินไปจึงขอไม่กล่าวถึง เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นวิธีคิดและวีธีการทำงานของทั้งตัวประธานาธิบดีกับบรรดารัฐมนตรีและที่ปรึกษาต่าง ๆ นั้นมากกว่า) โดยเชื่อว่าถ้าทุ่มเทกำลังทหารและเพิ่มการโจมตีอย่างเป็นลำดับขั้นแล้ว จะสามารถจบสงครามเวียดนามได้ภายในสิ้นปี 2510 (ตอนที่ขออนุมัติรัฐสภาเป็นช่วงกลางปี 2508)
ในที่ประชุมทีมความมั่นคงของประธานาธิบดีจอห์นสันก็มีคนคัดค้านข้อเสนอของแมคนามาราและเสนาธิการทหาร เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่อ้างถึงประวัติศาสตร์ช่วงฝรั่งเศสยึดครองเวียดนาม แล้วต้องพ่ายแพ้ยอมสงบศึก กับที่ปรึกษาส่วนตัวของจอห์นสันเอง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของจอห์นสันชื่อนายคลาร์ค คลิฟฟอร์ด เป็นทนายความที่มีชื่อเสียงที่จอห์นสันอยากจะให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ซี.ไอ.เอ. แต่คลิฟฟอร์ดปฏิเสธ แต่ก็ช่วยให้คำปรึกษาในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ซึ่งก็น่าจะมีความสนิทสนมกับแมคนามาราอยู่ด้วย ได้เตือนแมคนามาราและกองทัพว่า ขออย่าให้เชื่อตัวเลขที่เป็นแค่ “การคาดเดา” จงใช้ “ความเป็นมนุษย์” เข้าตัดสิน โดยคลิฟฟอร์ดเชื่อว่าพวกเวียดนามเหนือจะไม่ยอมแพ้ และสหรัฐฯจะสูญเสียมากยิ่งขึ้น จนอาจจะแพ้สงครามในที่สุด อย่างไรก็ตามจอห์นสันก็ตัดสินใจเพิ่มกำลังทหารและยกระดับการโจมตีตามข้อเสนอของแมคนามาร่าและกองทัพ แต่สงครามก็ไม่ได้จบภายในสองปี ยิ่งทวีความรุนแรง และสหรัฐก็สูญเสียกำลังพลมากขึ้น ๆ จนเกิดการประท้วงขึ้นภายในประเทศ จนถึงปีสุดท้ายในตำแหน่งสี่ปีของสาระการเป็นประธานาธิบดี จอห์นสันก็ประกาศว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีในวาระที่ 2 อีก ขณะที่แมคนามาราถูกตั้งกรรมการสอบสวนจากวุฒิสภา แต่ก็ไม่ได้ถึงขึ้นตัดสินว่ามีความผิดอะไร ในหนังได้แสดงฉากที่จอห์นสันได้ขอร้องให้แมคนามาราลาออก แล้วให้ไปเป็นประธานธนาคารโลก (World Bank) จากนั้นก็ตั้งคลาร์ค คลิฟฟอร์ด เป็นรัฐมนตรีกลาโหมสืบแทน แล้วหนังก็จบลงตรงนั้น
ในตอนท้ายของหนังเรื่องนี้ จอห์นสันได้บ่นน้อยใจกับคลิฟฟอร์ดว่า เขานี้ช่างโชคร้ายเสียเหลือเกิน ในชีวิตที่มาทำงานการเมืองก็หวังจะสร้างสังคมอเมริกันให้น่าอยู่ เขาอยากทำงานด้านสังคม การศึกษา และสิทธิมนุษยชน เตรียมกฎหมายไว้เป็นร้อย ๆ ฉบับ ตั้งแต่ที่เป็นผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก จนถึงประธานาธิบดีนี้ แต่ก็ต้องมาเป็นผู้นำในการทำสงคราม และเป็นสงครามที่ทำให้สหรัฐฯต้องสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แล้วเขาก็สงสัยว่าคลิฟฟอร์ดที่ตอนแรกไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มกำลังทหารและยกระดับการโจมตีเวียดนาม แต่ทำไมพอมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมจึงไม่คัดค้านอะไรอีก ตรงนี้คลิฟฟอร์ดตอบได้ดีมาก และคงจะกินใจผู้ชมที่รวมถึงกรรมการที่ตัดสินให้รางวัลลูกโลกทองคำ จึงทำให้โดนัลด์ ซุทเธอแลนด์ ที่แสดงเป็นคลาร์ค คลิฟฟอร์ด ได้รับรางวัลผู้แสดงประกอบยอดเยี่ยมในการออกฉายเมื่อปี 2545 นั้น
คลิฟฟอร์ดตอบจอห์นสันว่า (ตรงนี้เป็นการปะติดปะต่อของผู้เขียนด้วยส่วนหนึ่ง เพราะคลิฟฟอร์ดไม่ได้พูดถ้อยคำต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด แต่ผู้เขียนนำมาเชื่อมต่อกันจากคำพูดในส่วนอื่น ๆ ที่เขาได้เคยพูดแนะนำจอห์นสันมาเป็นระยะ ๆ นั้น) แต่ก่อนเขาเป็นเพื่อนจึงรู้ใจว่าจอห์นสันคงไม่อยากทำอย่างนั้น(การทำสงครามกับเวียดนาม) และด้วยความเป็นมนุษย์ที่เขายึดถือ เขาก็ไม่อยากจะเห็นการสูญเสียอะไรใด ๆ แต่พอมาเป็นรัฐมนตรีที่ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ เขาก็ต้องมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงเห็นว่าเมื่อคนอเมริกันยังอยากเห็นความยิ่งใหญ่ของชาติสหรัฐฯ เขาจึงไม่คัดค้านที่จะทำสงครามเวียดนามให้จบ แต่เมื่อคนในชาติเริ่มต่อต้านและเห็นว่าควรจะเจรจาสงบศึก เขาก็พร้อมที่จะจบสงครามนี้อย่างสันติด้วยเช่นกัน ซึ่งจอห์นสันก็ดูเหมือนว่ายังคาใจ จึงถามว่าก็เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในชะตากรรมที่เลวร้ายมาถึงตรงนี้ แต่ทำไมเขาจึงต้องมารับเคราะห์เพียงคนเดียว
ตรงนี้คือคำตอบที่คลิฟฟอร์ดพูดในฉากนั้น “ฉันให้คำแนะนำ แต่คุณเป็นคนตัดสินใจ”