ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักทำให้การระบาดมีแนวโน้มรุนแรง และยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ การระบาดเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนหลายๆ ตัวสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็อาจจะลดลง ส่งผลให้การบริหารจัดการทำได้ยากขึ้น
ขณะที่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดล่าสุด ที่แม้จะไม่ใช่การล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบเหมือนปีที่ผ่านมา แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มถูกกระทบใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบทั้งประเทศ และมีโอกาสที่จะลงลึกอย่างต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินความเสียหายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 0.8% แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ เป็นกรณีต่ำ (โลเวอร์เคส) จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึง 2%
โดย ธปท. ได้มีการประเมินเป็น 2 กรณีคือ 1.มาตรการที่เข้มข้นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงไปได้40% ก็จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในช่วงกลางเดือน ส.ค. นี้ และ 2. หากเป็นโลเวอร์เคส การควบคุมการแพร่ระบาดลดลงไปได้แค่ 20% นั่นอาจส่งผลให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อถึงสิ้นปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานขึ้นแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้สั่งล็อกดาวน์ แต่ประชาชนก็อาจจะล็อกดาวน์ตัวเอง
ขณะที่EIC คาดว่าต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย/วัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือนตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเมษายน (คาดการณ์เดิมใช้เวลาแค่ 4 เดือนในควบคุมโรค) โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท (ราว 4.8% ของ GDP) ซึ่งมีสาเหตุหลักทั้งจากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่จะปรับลดลงมาก แม้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคบางส่วนจะหันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน ทั้งนี้ผลกระทบของการระบาดที่ลากยาวจะทำให้แผลเป็นเศรษฐกิจมีโอกาสปรับลึกขึ้นอีก ทั้งในส่วนของการเปิดปิดกิจการที่แย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น รวมถึงภาคครัวเรือนจะต้องแบกหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและเผชิญกับภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายในอนาคต หรือ Debt overhang เป็นเวลานานขึ้น ซึ่งแผลเป็นที่ลึกขึ้นจะเป็นอุปสรรคหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้เราหวังลึกๆ ให้วิกฤติจบลงโดยเร็วเพื่อหยุดยั้งความหายนะทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่หนักหน่วงและสาหัสนี้ ถึงเวลาที่ต้องยกเครื่อง ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและยกระดับมาตรการแล้วหรือยัง ก่อนจะเอาไม่อยู่