รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด (27 ก.ค. 64) พบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 5 แสนราย ผู้เสียชีวิตกว่า 4 พันราย การได้รับวัคซีนสะสมราว ๆ 16 ล้านโดส หรือคิดเป็นเพียง 12 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว (ประมาณ 19%) สะท้อนถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงและความไม่แน่นอน (Risk and Uncertainty) ของผู้บริหารประเทศที่ล้มแล้วล้มอีก ถ้าพิจารณาในขณะนี้กล่าวได้ว่าจุดพลาดที่สำคัญคือ การมองไม่ขาดว่าวัคซีนจะเป็นทางรอดที่สำคัญที่สุดในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 และเมื่อตระหนักได้แล้วว่าต้องฉีดวัคซีน ก็หาไม่ทันหรือหาไม่พอกับความต้องการ หรือพอมีวัคซีนพร้อมฉีดบ้างก็พลาดจุดยืนที่ทำมาถูกทางแล้วแต่แรกแล้วอีกที่เน้นฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน ตลอดจนการขาดเอกภาพในการบริหารงานให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ณ เวลานี้ ใครคือตัวจริงผู้มีสิทธิ์เด็ดขาดการบริหารวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จยังตอบไม่ตรงกัน เมื่อประชาชนเข้าไม่ถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ แม้คนที่พอจะมีเงินจ่ายค่าวัคซีนเอง จองและจ่ายไปแล้ว แต่ก็มีหลายคนที่โดน “เท” หากเป็นวัคซีนรัฐจัดให้ฟรีไม่ต้องพูดถึง “เทแล้วเทอีก” นับแต่มีการคิกออฟปูพรมฉีดทั่วประเทศเมื่อ 7 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา แล้วไหนจะมีปัญหาอื่น ๆ อีกสารพัด อาทิ การเข้าไม่ถึงการรักษา เตียงเต็ม โรงพยาบาลสนามไม่พอ แพทย์พยาบาลหน้าด่านรวมถึงบุคลากรสนับสนุนอื่น ๆ อ่อนล้าโรยแรงรับมือไม่ไหว ชุดตรวจด่วนเมื่อมีผลออกมาเป็นบวกแตไม่มีที่ไปต่อด้วยเพราะโรงพยาบาลไม่รับ การให้ข้อมูลวิจัยที่หักล้างกันไปมาจนหาความน่าเชื่อถือจากผู้ใดก็ยาก ความล้มเหลวและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ข้างต้น ทำให้ประชาชนกดดัน ผิดหวัง หดหู่ จนนำไปสู่การหาทางออกอย่างหนึ่งคือ การออกมาแสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 บนสื่อโซเชียลจากทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และที่อันตรายมากว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการแพร่ระบาดของข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน (Infopandemic) ที่มีผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค. 63-30 มิ.ย. 64) พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทยว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน ส่วนกลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี นอกจากนี้ เมื่อบรรดาดารา นักร้อง คนดัง ฟลูเอนเซอร์ / ผู้ทรงอิทธิพล ต่างออกมา “Call out” พูดหรือเขียนแสดงจุดยืนที่สะท้อนถึงทัศนคติและความคิดที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสามารถพึงกระทำได้ตามหลักสากล ซึ่งการ Call out จะเห็นผลจริงจังและมีประสิทธิภาพมากถ้าหากผู้ที่ออกมานั้นเป็นคนที่มีชื่อเสียงเสมือนเป็นกระบอกเสียงที่ใหญ่กว่าประชาชนคนธรรมดา แต่การออกมาแสดงจุดยืนภายใต้การบริหารบ้านเมืองสำหรับประเทศไทยเวลานี้ อาจทำให้ผู้ที่ออกมาแสดงจุดยืนหลายคนต้องจ่ายแพงเมื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง เมื่อพื้นฐานความต้องการของประชาชนไร้การตอบสนองที่จริงจัง สมเหตุสมผล และอย่างเป็นธรรมจากภาครัฐมากขึ้นเท่าใด เมื่อนั้นประชาชนย่อมผนึกกำลังกันส่งเสียงเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น จึงอยากเห็นการทำงานของรัฐบาลที่มุ่งตรงต่อประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง เพราะโควิด-19 นอกจากจะเกี่ยวพันกับความเจ็บ ความทุกข์ทรมาน และความเป็นความตายของประชาชนเฉพาะหน้านี้แล้ว ยังเกี่ยวพันถึงความหิวโหย/ปากท้องประชาชน ความฉลาด/ปัญญาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก การจัดการการศึกษาเพื่อผลิตคนคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนการสร้างบ้านเมืองให้เจริญและสงบสุขหลังโควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นเสมือนคลื่นยักษ์ที่กระเพื่อมไปทุกหย่อม เมื่อความห่วงใย ความกลัว และความวิตกมันล้นทะลักนำไปสู่การแสดงออกอย่างเปิดเผยของประชาชน ก็หวังว่าภาครัฐจะรับฟัง ได้ยิน และปรับปรุงเพื่อประชาชน เมื่อผิดบ่อย ๆ พลาดบ่อย ๆ บนความรู้ที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความจงใจเพื่อพวกพ้องที่มากเกินขอบเขต ก็ยากที่ประชาชนจะยอมแล้วยอมอีกไปเสียทุกคราวครับ!!! เมื่อถึงจุดที่เกินกว่าจะรับไหว “พลังระเบิด” จากประชาชนจะก่อเกิดตามมายากจะเลี่ยงได้