เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือซีดีซี แถลงยืนยันว่าพบสัดส่วนของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในอัตราร้อยละ 83 ของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าขณะนี้พบสายพันธุ์เดลตา ระบาดแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา กลายเป็นสายพันธุ์หลักของไทยแล้วเช่นกัน โดยแนวโน้มการระบาดรวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากข้อมูลระหว่างวันที่ 10- 16 กรกฎาคม พบสายพันธุ์เดลตาเกินครึ่งถึง 62.6 % โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบสายพันธุ์เดลตามากถึง 76.5% ในขณะที่องค์การอนามัยโลก ออกแถลงการณ์ระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา กำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยขณะนี้ พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาแล้ว ใน 124 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ทั้งนี้ยังพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า สายพันธุ์เดลตา แพร่ระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้จะมีข้อมูลจากวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เปิดเผยผลการวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ศึกษาติดตามการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขนานต่างๆ ให้แก่ประชาชนของทางการในประเทศต่างๆ ทั่วโลกระบุว่า วัคซีนขนานไฟเซอร์ ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ สหรัฐฯ และบริษัทไบโอเอ็นเทค เยอรมนี จำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้ 88% และป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จำนวน 2 โดส สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้ที่ 67% แต่หากฉีดเพียง 1 โดส ประสิทธิภาพด้านการป้องกันอาการป่วยหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ของ วัคซีนขนานไฟเซอร์ สามารถป้องกันได้เพียง 36 %เท่านั้น เช่นเดียวกับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา หากได้รับการฉีดเพียงโดสแรก ก็ป้องกันอาการป่วยได้เพียงร้อยละ 30 จึงควรได้รับวัคซีนให้ครบทั้งสองโดส เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่น่ากังวลก็คือ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่า โลกกำลังล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด พร้อมกล่าวตำหนิกลุ่มประเทศร่ำรวย ที่ไม่ยอมแบ่งปันวัคซีนให้กลุ่มประเทศยากจน ส่งผลให้การกระจายวัคซีนไม่เท่าเทียมและทั่วถึง โดยในประเทศยากจน พบว่า มีประชากรรับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ส่วนประเทศร่ำรวยรับวัคซีนไปแล้วเฉลี่ยที่ร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทย ที่เคยรับมือได้ดีจนได้รับการย่กย่องจากองค์การอนามัยโลกในการระบาดระลอกแรก กลับต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติในปัจจุบัน ทั้งระบบสาธารณสุขที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ และการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่เพียงพอและไม่ทันต่อสถานการณ์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยืนยันว่าไม่ถอดใจและจะสู้จนกว่าจะชนะ แม้วันนี้ยังมองไม่เห็นฝั่งก็ตาม