เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ประชากรโลกประมาณ 1 พันล้านคนมีอาหารไม่เพียงพอ ขณะที่ 1 ใน 3 ของอาหารที่โลกผลิตได้ถูกทิ้งไป นำมาเลี้ยงคนได้ถึง 2,000 ล้านคน เป็นข้อมูลจาก FAO องค์การอาหารและการเกษตร
ในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้าน ถ้าไม่มีการจัดการกับอาหารเหลือและทิ้งไปก็จะต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตัดไม้ ทำลายป่า ดิน น้ำ และอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ประเด็นจึงไม่ใช่เพียงหาวิธีการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพ แต่จัดการอาหารที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ลองคิดถึงประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามีอาหารมากถึง 4 เท่าของประชากร ร้อยละ 40 ของอาหารถูกทิ้งไป เท่ากับ 40 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ขณะที่คนอเมริกัน 1 ใน 8 ไม่มีจะกินหรือมีไม่พอ อาหารเป็นสัดส่วนใหญ่สุดของกองขยะทั่วสหรัฐ
ปัญหาอาหารเกี่ยวกับโลกร้อนและความยุติธรรม ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 8 ของโลกจากการผลิตอาหารและการทิ้งอาหาร เท่ากับอันดับสามของโลกรองจากจีนและสหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังมีการสูญเสียอื่นๆ อีกมากมายในกระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ดิน น้ำ ไฟฟ้า แรงงาน การขนส่ง สูญเสียไปกับอาหารที่ถูกทิ้ง
สังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมส่งเสริมให้คนซื้อมากๆ กินมากๆ อัตราการขายอาหารจะได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจจะได้เติบโต จึงมีวิธีการตลาดที่แยบยลเพื่อกระตุ้นการซื้อ ผู้บริโภคเป็นเหยื่อเหมือนปลาติดเบ็ด ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ตามห้าง จะวางสินค้าเต็มให้มากที่สุด เพราะคนซื้อจากที่เห็น เห็นมากก็อยากซื้อ
ข้าวปลาอาหารผักผลไม้ที่วางมากก็ใช่ว่าจะขายหมด ผสมเก่าใหม่ให้เต็มที่วางเสมอ มีโปรโมชั่นมากมายหลากหลายรูปแบบ ลดแลกแจกแถม ซื้อ 1 แถม 1 ซื้อตู้เย็น ตู้อบได้ผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์
ตั้งแต่ปี 1970 ตู้เย็นใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น 30% จานกินข้าวใหญ่ขึ้น 36% ตู้เย็นใหญ่แค่ไหนก็มักจะเต็มจนอาจต้องซื้อตู้ที่ 2 สำรอง และตู้แช่ต่างหาก แต่งานวิจัยพบว่า อาหารที่ซื้อมาถูกทิ้งไปถึง 1 ใน 3 หมดอายุ เน่าเสีย เหมือนว่าเราซื้ออาหารมา 5 ถุง โยนทิ้งข้างทาง 2 ถุง ถ้าซื้อไข่มาแผงหนึ่ง ทำหล่นแตกหมดก็เสียดาย แต่ไม่คิดเสียดายอาหารมากมายที่ทิ้งไว้ในตู้เย็นจนกินไม่ได้
เรื่องอายุอาหารเป็นประเด็น เพราะหลายอย่างและหลายที่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ใส่วันเวลาตามที่คิดเอาเองก็มาก อย่างมลรัฐหนึ่งในสหรัฐฯมีนมที่บอกว่าหมดอายุใน 12 วัน ขณะที่มาตรฐานประเทศ 21 วัน เหมือนกับอยากให้คนบริโภคเร็ว โละทิ้งและซื้อใหม่ให้เร็วขึ้น
องค์กรที่รณรงค์เรื่องนี้จึงแนะนำให้ไม่ต้องดูแต่วันที่หมดอายุที่เขาติดไว้ แต่ดูเองดมเองว่ายังกินได้หรือไม่ ซึ่งบางอย่างอาจจะดูยากและเสี่ยงไป แต่อาหารอย่างผักผลไม้ดูได้ไม่ยากนัก
ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โละอาหารทิ้งไปมากมายโดยที่ยังไม่หมดอายุ และยังกินได้ก็มาก อย่างในสหรัฐฯ แคนาดา ที่องค์กรจิตอาสามาจัดการเก็บอาหารเหล่านั้นที่ยังกินได้ไปแจกจ่ายให้คนที่ขาดแคลน
ที่เดนมาร์กมีการรณรงค์เรื่องอาหารที่ทิ้งไปอย่างจริงจัง เพียง 6 ปี สามารถลดการสูญเสียได้ 25% ซึ่งมาจากการริเริ่มของภาคประชาสังคม ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่าง Selina Juul ผู้ก่อตั้ง Stop Spild af Mad (ภาษาเดนมาร์กแปลว่า Stop Wasting Food หยุดทิ้งอาหาร) ที่ลุกขึ้นมาแนะนำวิธีการหลากหลายเพื่อลดการสูญเสีย
เธอทำการรณรงค์เรื่องปัญหาอาหารล้นโลกว่าเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประเด็นจึงไม่ใช่ไปชี้นิ้วว่าใครผิด เพราะชี้ไปที่ใครเขาก็จะไม่รับและไม่ร่วมมือ แต่ช่วยกันหาทางแก้ไขและทำอย่างไรให้ดีขึ้นดีกว่า
องค์กรนี้มีภาคีร่วมมือมากมายที่ทำการณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงจาก “ข้างล่าง” (bottom up) ซึ่งได้ผล เพราะที่สุดฝ่ายนโยบายก็ “ลงมา” ร่วมด้วย ทำให้สังคมโดยรวมร่วมมือกัน ที่สำคัญคือการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้ผู้คนตระหนักในคุณค่าอาหารและผลกระทบต่อโลกร้อน และความยุติธรรม นี่คือการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน (to empower people) ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาเอง
หนึ่งในวิธีการ คือ การเผยแพร่แนวคิดและแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งวันนี้ทำได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต อย่างกรณีที่ร้านอาหารระดับดาวมิชลินแห่งหนึ่งที่พยายามใช้วัตถุดิบดีและประหยัด ก็จะเหลือหลายส่วนที่ไม่ได้นำไปประกอบอาหาร ก็ประกาศขายส่วนเหล่านั้น “หลังร้าน” ในราคาถูก ปรากฏว่ามีคนมาซื้อหมดไปโดยเร็วทุกวัน
มีอีกวิธีหนึ่ง คือ การตั้งร้านรับสินค้าอาหารที่ถูกโละจากห้างจากร้าน ที่เหลือและขายไม่ออก แต่ยังไม่หมดอายุ เอามาขายในราคาถูก ลดราคากว่าครึ่งก็มี ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก ลูกค้าไมใช่แต่คนที่มีรายได้น้อย คนฐานะดี (มีจิตสำนึก) ก็ไปซื้อ เพราะหลายอย่างได้รับบริจาคจากบริษัทต่างๆ ที่ผลิตอาหารที่ต้องการทำ CSR แบ่งปันให้คนที่มีรายได้น้อย
ในร้านประเภทนี้มีผักผลไม้ที่ไม่ได้ขนาด หรือมีตำหนิบ้างเล็กน้อย ที่ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน ปกติถูกคัดทิ้งไปเลยก็มาก อย่างมันฝรั่ง แอปเปิล ผักชนิดต่างๆ ที่มาจากท้องถิ่น
อีกวิธีหนี่งที่เป็นที่นิยมกันมาก คือ ฟาร์มต่างๆ หันมาทำร้านอาหาร เอาผลผลิตอินทรีย์มาปรุงอาหารเอง ได้อาหารท้องถิ่นที่อร่อย ปลอดภัย ราคาไม่แพง วัตถุดิบดีจากสวนหลังบ้าน สด และเจ้าของก็นำมาใช้ได้หมด
ปัญหาอาหารเหลือกลายเป็นขยะบ้านเราคงมีน้อยกว่าสหรัฐฯและยุโรป แต่ก็มีและเป็นประเด็นไม่น้อยเหมือนกัน ขณะที่คนส่วนหนึ่งกินอย่างฟุ่มเฟือย กินทิ้งกินขว้าง คนอีกจำนวนไม่น้อยไม่มีจะกิน อดๆ อยากๆ ไม่งั้นโฆษณา “ป.ปลานั้นหายาก” คงไม่โด่งดัง และได้รางวัลระดับชาติและเอเชีย
คนไทยแต่โบราณรู้คุณข้าวปลาอาหาร ทำบุญสู่ขวัญแม่โพสพ ไหว้ข้าวเมื่อกินเสร็จ วันนี้คงไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ก็ควรมีสำนึกว่า กินและจัดการอาหารอย่างพอเพียงนั้นช่วยลดโลกร้อนและช่วยคนหิวโหยได้