ปฏิบัติการ "ไล่บิ๊กตู่" โดยกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ยังคงดำเนินต่อไปด้วยความคึกคัก ฮึกเหิม ไม่หวั่นกลัวต่อคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองของ "ศบค." ที่เคยประกาศออกมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งยังไม่ให้น้ำหนักด้วยว่า ณ ห้วงเวลานี้ ควรต้องเบรคเรื่องการเมือง เพราะบ้านเมืองกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่คลุมไว้ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะด้วยเพราะกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่เคลื่อนไหวอยู่บนท้องถนน มีความหวังว่า ช่วงนี้คือเวลาที่ดีที่สุด เข้าใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด หากคิดจะ "ตีให้ช้ำ" ให้อ่วมอรทัยกันถ้วนหน้า ตั้งแต่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปจนถึงครม.ทั้งคณะ โดยไม่จำเป็นต้องไปฝากความหวังเอาไว้ที่ "พรรคฝ่ายค้าน" ที่คิดจะใช้ "ญัตติซักฟอก" ชำแหละนายกฯและครม.กลางสภาฯ กันในเดือนก.ย.แต่อย่างใด ! วันที่ 1 ส.ค.64นี้ "บก.ลายจุด" สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มคาร์ม็อบ ประกาศเชิญชวนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระดมให้พี่น้องเพื่อนพ้องพากันไปตั้งขบวนมุ่งหน้าไปที่ถนนวิภาวดีรังสิต แล้วร่วมกันขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งระหว่างทางให้เปิดไฟกะพริบ บีบแตร มาตลอดทาง รวมทั้งยังเชิญชวนให้จัด Car Mob พร้อมกันทั้งประเทศในวันเดียวกัน แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การจัด Car Mob เพื่อขับไล่บิ๊กตู่เป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ บก.ลายจุด ก็เคยระดมมวลชนให้ขับรถออกมาตั้งขบวนบีบแตรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้ว เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวชุมนุมของมวลชนนอกสภาฯ ที่ใช้โอกาส "วิกฤติโควิด" ขยายแผลผู้นำรัฐบาล มาอย่างต่อเนื่อง ทว่า การเคลื่อนไหวโจมตี ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จากสารพัดม็อบที่มีความเชื่อมโยงกันเช่นนี้ ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะประเมินว่าในยามนี้รัฐบาลกำลังรับศึกทุกด้านและน่าจะเป็นจังหวะที่อ่อนแอที่สุด แต่ลึกๆแล้วทุกคนต่างรู้ดีว่า ถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่ตัดสินใจ "ลาออก" หรือ "ยุบสภาฯ" อย่างแน่นอน แต่ในทางการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว เมื่อโอกาสทองมาถึง คงไม่มีใครยอม "ละทิ้ง" ไปได้เช่นกัน ปฏิบัติการไล่บิ๊กตู่ ที่ดำเนินกันมาอย่างยืดเยื้อ นับตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ก็เคยมีอีเว้นท์การเมืองอย่าง "วิ่งไล่ลุง" มาแล้ว หรือแม้การชุมนุมที่นำไปสู่การความรุนแรง เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลเป็นฝ่ายถูกโจมตี ก็ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น เพียงแต่ฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็รู้ดีว่า รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความเด็ดขาด เข้าควบคุมสถานการณ์ เหมือนที่เกิดขึ้นในการชุมนุมที่ฮ่องกง หรือต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็น "เงื่อนไข" ที่ยังเกิดการชุมนุมทางการเมืองท้าทายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างที่เห็น อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเองไม่ต้องการ "เปิดศึกหลายด้าน" เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่การเร่งวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยเร็วที่สุด ทั้งการจัดหาวัคซีน การบริหารระบบการส่งตัวผู้ป่วยให้เข้าถึงระบบการแพทย์ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลจะแก้ไขวิกฤติที่มีคนออกมาล้มตาย เสียชีวิตในที่สาธารณะจนนายกฯต้องออกมากำชับทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า "ไม่ให้เกิดขึ้นอีก" ได้อย่างไร ? แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็น "ม็อบนอกสภาฯ" หรือ "ฝ่ายค้าน" ที่รอซักฟอกรัฐบาล ในวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในเดือนก.ย.นี้ ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ "เงื่อนตาย" ที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ หวั่นไหวได้มากเท่ากับ ข้อหาความผิดพลาด ล้มเหลว ในการแก้ปัญหาโควิด ที่มาจากเสียงของชาวบ้าน ซึ่งดัง และมีความหมายเหนือกว่านักการเมือง สร้างแรงสั่นสะเทือนได้หลายริกเตอร์ ต่างหาก !