แม้จะมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย ในการจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในช่วงไตรมาสที่4 ของปีนี้
โดยก่อนหน้านี้มีการลงนามในสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้ว 61 ล้านโดส และจัดหาวัคซีนซิโนแวค 19 ล้านโดส ทำให้ยอดรวมที่มีการจองซื้อ มีสัญญาจะส่งมอบรวมประมาณ 100 ล้านโดส ภายในปี 2564
กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ไม่อาจทันต่อสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดเป็นอย่างรวดเร็ว และรุนแรง นั่นส่งผลให้
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาแถลงขออภัยพี่น้องประชาชน ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้จะพยายามเต็มที่แล้ว ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
“การระบาดของโรคโควิด- 19 เราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า เกิดขึ้นแล้วทำให้การระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันกับสถานการณ์ ต้องกราบขอภัยพี่น้องประชาชน”
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังกล่าวถึงการดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในปีนี้และปีหน้า ว่า จะพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตรุ่นที่ 2 หรือวัคซีนที่สามารถตอบสนองกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2565 เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ จำเป็นต้องจองวัคซีนล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังอยู่ในการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์ ส่วนนี้สถาบันได้เริ่มเจรจาและส่งข้อความประสานงานไปยังองค์กรกาวีในการที่จะขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์มีเป้าหมายของการได้รับวัคซีนของปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนลำพัง จะดำเนินการผ่านโครงการโคแวกซ์ และเมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนก็นำเสนอผ่านคณะกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง
และส่วนอื่นๆการสนับสนุนวิจัยพัฒนาในประเทศ ทั้งรูปแบบการหาเทคโนโลยีมาทำความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ ที่มีความประสงค์จะขยายกำลังการผลิต ในการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มหรือรูปแบบอื่น ทั้งเชื้อตาย mRNA หรือซับยูนิตโปรตีน ก็อยู่ในช่วงของการดำเนินการเร่งนัดแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ
กระนั้น มองไปข้างหน้าแม้จะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รออยู่ หากแต่สถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ คาดหวังว่าปลายเดือนกรกฎาคมจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ ที่หากหลังสิ้นเดือนกรกฎาคมการระบาดยังเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยไม่มีแนวโน้มจะลดต่อลง ในขณะที่ระบบสาธารณสุขยังไม่สามารถรองรับสถานการณ์ได้ก็เป็นช่วงเวลาที่สาหัสเหลือเกินระหว่างรอวัคซีน