เสือตัวที่ 6 ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นแบบเดียวกันอย่างหนึ่งคือ การต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป และการขยายเผ่าพันธุ์ ซึ่งไวรัสร้ายที่เราเรียกกันว่า Covid-19 ก็เป็นเช่นนั้น และนั่น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสายพันธุ์ที่เราเรียกกันว่า การกลายพันธุ์อย่างไม่หยุดยั้งของสิ่งมีชิวิตพันธุ์ใหม่นี้เพื่อความอยู่รอด และการขยายเผ่าพันธุ์ออกไปให้มากที่สุดไม่ว่าจะโดยวิธีการใด การพัฒนาตัวเองเพื่อการดำรงอยู่และการขยายพวกพ้องเผ่าพันธุ์ของตน ซึ่งเป็นธรรมชาติในการดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์ออกไปให้ได้โดยการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของมัน มิฉะนั้น มันจะสูญพันธุ์ในที่สุด และไวรัส COVID-19 ที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อการต่อสู้กับยาปฏิชีวนะของมนุษย์โลก ที่เรียกว่าวัคซีนหรือยาที่จะเอาชนะมัน แม้ว่ามนุษย์จะคิดค้นวัคซีนในการปกป้องชีวิตจากการคุกคามของไวรัสตัวนี้ในรูปแบบใด หากแต่เมื่อใดที่ไวรัสตัวนี้ได้เรียนรู้ศัตรูตัวใหม่ของมันแล้ว มันจะพัฒนาศักยภาพการต่อสู้ของตัวมันเองเพื่อเอาชนะความพยายามของศัตรูของมันให้ได้อย่างไม่สิ้นสุด และในวันนี้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นความท้าทายความสามารถของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ศักยภาพของไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้และคิดค้นวัคซีนป้องกันการคุกคามของมันได้รวดเร็วแค่ไหน หากแต่ไวรัสตัวนี้ จะพัฒนาตัวเองให้แกร่งกล้ามากกว่าอย่างไม่สิ้นสุด สงครามโรคร้ายที่กำลังคุกคามมนุษยชาติครั้งนี้ จึงเป็นสงครามใหญ่ที่ยิ่งใหญ่กว่าสงครามครั้งใดๆ ในโลก สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ มีความกล้าแข็งมากมายอย่างที่มนุษย์จะดูแคลนไม่ได้แม้แต่น้อย ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงกำหนดให้สายพันธุ์แลมบ์ดาเป็น Variant of Interest (VOI) หรือไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจเฝ้าระวังไว้ก่อน ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตาที่มีสถานะเป็น Variant of Concern (VOC) หรือไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงและวิตกกังวลไปเสียแล้ว มีการตรวจพบสายพันธุ์แลมบ์ดาครั้งแรกที่ประเทศเปรูเมื่อเดือนสิงหาคมของปีก่อน โดยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้สูงถึง 81% ของผู้ป่วยโควิดในเปรู และพบมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดในประเทศชิลี รวมทั้งพบผู้ติดเชื้อเกือบร้อยรายในประเทศเม็กซิโกและอาร์เจนตินาอีกด้วย แต่เปรูนั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ที่สหรัฐฯ กว่า 600 ราย และที่สหราชอาณาจักรอีก 7 ราย โดยคาดว่าส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การปรากฏตัวของไวรัสกลายพันธุ์นี้ขึ้นในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งมีลักษณะการกลายพันธุ์ที่ส่อแววว่าอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดในอนาคต ไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดานั้นมียีนกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนในหลายตำแหน่ง โดยพบการกลายพันธุ์ถึง 7 จุดบนโปรตีนที่เป็นส่วนหนามของไวรัส เมื่อนำไปเทียบกับพันธุกรรมของไวรัสโควิดดั้งเดิมซึ่งพบครั้งแรกที่นครอู่ฮั่นของจีน การกลายพันธุ์บางลักษณะที่พบในสายพันธุ์แลมบ์ดานี้ มีศักยภาพสูงที่จะทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมทั้งสามารถลดทอนประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัวที่ใช้เพื่อยับยั้งไวรัสได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่นการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า F490S ซึ่งอยู่บนพื้นที่จับกับตัวรับ (RBD) ของหนามไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่อาจจะทำให้ไวรัสรอดพ้นจากวัคซีนไปได้ โดยจะทำให้แอนติบอดีที่วัคซีนสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพต่ำลง ไม่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันจดจำและเข้าทำลายไวรัสกลายพันธุ์ได้ ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาว่าด้วยไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ bioXiv โดยระบุว่าสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีน สูงกว่าไวรัส SARS-CoV-2 แบบดั้งเดิม 3.3 เท่า จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ณ เวลานี้ โดยการวิจัยระบุว่าแม้ไวรัสกลายพันธุ์แลมบ์ดาจะทำให้แอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำลง แต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA ซึ่งได้แก่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นากับไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา ผลปรากฏว่าไวรัสมีความสามารถต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีนต่ำลงกว่าเดิม โดยอยู่ในเกณฑ์ที่วัคซีน mRNA ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป จะสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบจากการวิจัยข้างต้นนั้น ก็ยังเป็นการค้นพบในเบื้องต้น ด้วยภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติจากสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่นี้ ยังเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังท้าทายศักยภาพของมนุษย์ที่เคยลำพองตนว่า มนุษย์ชาญฉลาดกว่าทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ไวรัสพันธุ์ใหม่นี้กำลังกลายพันธุ์ พัฒนาศักยภาพของตัวพวกมันเองอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้สาธารณสุขทั่วโลก ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า "แลมบ์ดา" (Lambda) หรือสายพันธุ์ C.37 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดหนักในภูมิภาคอเมริกาใต้ โดยการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนและมีลักษณะพิเศษของพวกมัน ทำให้น่าหวั่นเกรงว่า อาจเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่พัฒนากลายพันธุ์มาทดแทนสายพันธุ์ดั้งเดิมของมันจนสามารถเกิดการระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงเกินคาด และปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาแล้วในอย่างน้อย 29 ประเทศทั่วโลก โดยเมื่อต้นเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมานี้ กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ เป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดเป็นหลักหมื่นในประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศเสียอีก ไวรัสทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ และเชื้อ Sars-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยนับแต่เชื้อถูกตรวจพบครั้งแรก ในช่วงปลายปี 2019 ก็พบการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายพันครั้ง และเป็นที่แน่นอนว่า ไวรัสตัวนี้ จะกลายเผ่าพันธุ์ของมันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งการกลาพันธุ์ของมันจะมีอัตราเร่งที่มากขึ้นๆ ตราบเท่าที่มันจะสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของมันอยู่ในโลกใบนี้ได้ เพราะจวบจนบัดนี้ มนุษยโลก ยังไม่สามารถหาเครื่องมือใด หยุดยั้งการคุกคามของมันได้อย่างแท้จริง และมันพร้อมที่จะกลายพันธุ์พัฒนาตนเองจนสามารถคุกคามมนุษยโลกได้ทุกโอกาส เพราะที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไวรัสตัวนี้สามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไวรัสพันธุ์ใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโลกมาก่อนหน้านี้ และนี่คือธรรมชาติของทุกชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการดำรงชีวิตของกลุ่มตนเท่าที่จะทำได้ สถานการณ์ ณ เวลานี้ จึงไม่มีเรื่องใดที่สำคัญไปกว่าการคุกคามชีวิตมนุษย์จากภัยร้ายของไวรัสพันธุ์นี้ได้ และหากประเทศใด ต้องการนำพาพี่น้องร่วมชาติของตนให้อยู่รอดได้ ผู้นำประเทศนั้นต้องกล้าปรับเปลี่ยนวัคซีนที่พอจะรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ได้ ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า นั่นคือหัวใจที่ผู้นำประเทศนั้น ต้องคิดและทำทุกสิ่งที่ต้องทำ ให้เร็วกว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสร้ายตัวนี้ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม