ทวี สุรฤทธิกุล “กุนเชียง” เป็นคำล้อพวกที่ปรึกษาบ้า ๆ บอ ๆ ตรงข้ามกับพวกที่ปรึกษาดี ๆ ที่เรียกว่า “กุนซือ” ช่วงนี้หลาย ๆ ท่านคงต้องล็อคดาวน์อยู่กับบ้านตามคำสั่งของ “ท่านผู้นำตู่” อย่างผู้เขียนก็ฆ่าเวลาด้วยการดูหนังตามช่องต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็เจอหนังดี ๆ อย่างที่ได้เปิดเจอในทีวีอินเตอร์เน็ตช่องหนึ่งเมื่อบ่ายวันพุธที่ผ่านมา ชื่อเรื่องว่า “Path to War” ที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า “เส้นทางสู่สงคราม” พอดีตรงกับรสนิยมของผู้เขียนที่ชอบหนังประวัติศาสตร์และเบื้องหลังบุคคลสำคัญทั้งหลาย จึงติดตามดูจนจบในเวลาเกือบสามชั่วโมง นับว่าเป็นหนังที่ยาวมาก ๆ เรื่องหนึ่ง แต่ก็ดูได้โดยไม่ง่วงหลับเลย เพราะมีแง่มุมที่ชวนให้คิดโดยตลอด หนังเรื่องนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545 เป็นเรื่องเกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 36 คือลินดอน บี จอห์นสัน ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งภายหลังอสัญกรรมของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ใน พ.ศ. 2506 และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกใน พ.ศ. 2508 ซึ่งฉากแรกของหนังก็เริ่มในงานฉลองตำแหน่งประธานาธิบดี ที่จอห์นสันได้กล่าวขอบคุณบรรดาที่ปรึกษาและทีมงานหาเสียง พร้อมกับระบุถึงตำแหน่งที่คนเหล่านั้นจะได้รับการแต่งตั้ง เช่น โรเบิร์ต แมคนามารา ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และดีน รัสต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น โดยในช่วงเวลาที่ฉลองกันอยู่นั้นทหารเวียดนามเหนือได้บุกเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ หรือทหารที่ไปประจำอยู่ในฐานทัพของเวียดนามใต้ ซึ่งตอนนั้นยังเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษา” เพราะสหรัฐฯต้องการแสดงว่าไม่ได้ต้องการทำสงคราม เพียงแต่ส่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไป “สร้างสันติภาพ” อันเป็นนโยบายในการหาเสียงของจอห์นสัน ที่ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้น สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับการเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เขียนในฐานะที่ทำคะแนนในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เกรดซี เนื่องจากไปตอบข้อสอบตอนสอบไล่ข้อหนึ่ง ที่ถามว่า “สงครามเย็นคืออะไร จงอธิบาย” ว่า “เป็นสงครามของฝรั่งในเมืองหนาว” จึงจำได้แม่นยำเมื่ออาจารย์เจ้าของวิชาประกาศเกียรติคุณนั้นที่ในห้องเรียน ว่ามันคือ “สงครามอุดมการณ์” ที่สหรัฐอเมริกา ผู้นำของโลกเสรี ต่อสู้เคี่ยวเข็ญกับสหภาพโซเวียต ผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ เพื่อแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในโลก มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น จะขออนุญาตที่จะอธิบายถึง ความเป็นมาของสงครามเวียดนาม อันสืบเนื่องมาจากการทำสงคราม “เย็น” ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้สักเล็กน้อย เวียดนามก็เป็นเหมือนหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ ที่ถูกมหาอำนาจในยุคก่อนเข้ามายึดครองและทิ้งปัญหาไว้ให้ ซึ่งมหาอำนาจที่เข้ามายึดครองเวียดนามก็คือฝรั่งเศส โดยเข้ามาปกครองเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ. 2426 แล้วจัดการแบ่งประเทศเวียดนามเป็น 3 ส่วน พร้อมกับขยายอำนาจเข้ามาในเขตลาว กัมพูชา และไทย เพื่อสร้าง “จักรวรรดิอินโดจีน” แต่ก็ยึดครองได้แค่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสก็อ่อนอำนาจลง ทำให้เกิดขบวนการที่จะแยกตัวออกจากการปกครองขึ้นในเวียดนาม สืบเนื่องมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายเรียกร้องเอกราชได้ต่อสู้อย่างหนัก ทำให้ฝรั่งเศสต้องยอมถอยออกมา แต่ก่อนที่จะปล่อยมือจากเวียดนาม ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมให้มีการทำสนธิสัญญาสงบศึกที่เจนีวา ใน พ.ศ. 2497 ให้มีการแบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ประเทศ คือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ แต่สงครามในเวียดนามก็ยังไม่สงบ เพราะทั้งสองประเทศนี้ยังคงสู้รบกันต่อมา โดยได้มีมหาอำนาจชาติใหม่เข้าไปสร้างปัญหา คือรัสเซียกับจีนที่เป็นประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ถือหางฝ่ายเวียดนามเหนือ และสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำโลกเสรีถือหางฝ่ายเวียดนามใต้ ในลักษณะที่เป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่างมหาอำนาจ ที่กำลังแข่งขันกัน “จัดระเบียบโลก” เสียใหม่ ภายใต้ลัทธิทางการเมืองที่แตกต่างกัน ดังที่เรียกว่า “สงครามเย็น” ดังกล่าวนั้น สงครามเย็นที่เป็นวิกฤติโลกจนเกือบจะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็คือ วิกฤติคิวบา ใน พ.ศ. 2505 เนื่องจากสหรัฐสืบทราบว่ารัสเซียได้เข้ามาสร้างฐานขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ขึ้นในคิวบา ที่อยู่ใกล้กับสหรัฐฯมาก แล้วสหรัฐฯก็เตรียมการที่จะโต้ตอบ แต่เรื่องก็จบลงด้วยการเจรจาและสงบศึกกัน เหตุการณ์ตรงนี้ในหนังเรื่อง Path to War ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า เป็นเพราะคำแนะนำของโรเบิร์ต แมคนามารา ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประธานาธิบดีเคนเนดี หลังการเลือกตั้งในปี 2504 นั้นแล้ว และแมคนามาร่าก็ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสืบต่อมาในสมัยของลินดอน บี จอห์นสัน และเป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง Path to War เพราะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ยกระดับสงคราม” ที่ทำให้สงครามเวียดนามขยายการสู้รบขึ้นอย่างรุนแรง และนำไปสู่การถอยทัพของสหรัฐฯในเวลาต่อมา จากข้อมูลในวิกิพีเดีย บอกว่า แมคนามารา เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมรถยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น ด้วยอายุไม่ถึง 40 ปี เขาจบการศึกษาจาก University of California at Berkeley และ Harvard Business School ได้ชื่อว่าเป็น “Whiz Kid” หรือ “เด็กมหัศจรรย์” ที่มีชื่อเสียงด้านความรู้ความสามารถมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดองค์การและการวางแผนสมัยใหม่ และเป็นผู้คิดค้น “การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะอย่างเป็นระบบ” (System Analysis in Public Policy) จนถึงมีการจัดตั้งสถาบันเกี่ยวกับวิชาการด้านนี้ ที่มีแมคนามาราเข้ามาดำเนินการจนมีชื่อเสียง ว่ากันว่าด้วยความโดดเด่นทั้งหลายเหล่านี้ของแมคนามารา ทำให้เป็นที่สนใจของเคนเนดี จนได้ไปทาบทามให้มาเป็นที่ปรึกษาและแต่งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในที่สุด บางคนก็บอกว่าแมคนามารานี้ไม่ได้เก่งจริง เพราะเริ่มด้วยการเป็น “กุนซือ” แต่จบลงในสภาพ “กุนเชียง” ที่ผู้เขียนจะขอไปเล่าในสัปดาห์หน้า และจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าประเทศไทยก็มีแบบนี้อยู่เยอะ