แสงไทย เค้าภูไทย คำถาม 6 ข้อของนายกฯบานปลายมามากแล้ว น่าจะหุบกันได้แล้ว เพราะบางเรื่อง บางกรณีก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถาม เพราะรู้ๆกันอยู่ อย่างเรื่องนักการเมืองด้อยคุณภาพนั้นถามกันมาตั้งแต่มีเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งแรกมาจนถึงวันนี้ ที่แม้จะถามในรูปแบบแตกต่างกัน ทว่าเป้าหมายเดียวกัน คือนักการเมืองที่ดี เช่นนักการเมืองกินบ้านกินเมือง นักการเมืองซื้อเสียง นักการเมืองหายหัว(ทอดทิ้งราษฎรหลังเลือกตั้ง) นักการเมืองน้ำเน่า ฯลฯ นักการเมืองจึงถูกมองด้วยสายตาที่หวาดระแวงมาตลอด นักการเมืองจึงมักจะถูกโจมตีเสมอ เนื่องจากมีจุดให้โจมตีมาก ทั้งจากนักการเมืองหรือพรรคตรงกันข้าม ทั้งจากผู้ที่หวังผลงานมากเกินไปจากผู้แทนราษฎร นักการเมืองอาชีพจึงต้องทำใจไว้ล่วงหน้า ว่าตนมีสิทธิถูกโจมตี ถูกใส่ร้าย(บางกรณีอาจจะเป็นเรื่องจริง) ได้ทุกโอกาส ทุกเวลา การเมืองจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ใครเข้าสู่สนามการเมือง หรือ “เล่นการเมือง” จึงเท่ากับโดดลงไปในคลองน้ำเน่า แม้จะมีนักการเมืองดี มีผลงานจนเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ลงเลือกตั้งคราใด แค่เอาชื่อเอาเบอร์ไปแปะเสาไฟฟ้า ประชาชนก็เลือกเข้ามา แต่ในจำนวนผู้แทนราษฎรกว่าครึ่งพัน คนนั้น จะมีสักกี่คนที่เป็นนักการเมืองน้ำดี ? นักการเมืองหน้าใหม่หากจะเดินสายตรงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง จะเอาแต่คุณสมบัติส่วนตัว เอาบารมีพรรค นโยบายพรรคไปนำเสนอและเรียกคะแนนนั้น ไม่พอ เพราะการเลือกตั้งนั้น กลไกสำคัญที่สุดที่จะทำให้เข้าถึงคะแนนเสียงได้ก็คือ หัวคะแนน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เป็นชาวบ้าน ชาวชุมชนธรรมดาๆที่มีคนรู้จักมาก เป็นคนที่ชาวบ้านนับหน้าถือตา มีบารมี มียศ มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งทางราชการ หรือด้านกิจการส่วนตัว เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ฯลฯ หัวคะแนนเหล่านี้ จะต้องสามารถเกณฑ์คนมาฟังนักการเมืองปราศรัยได้ครั้งละเรือนพัน เรือนหมื่นหรือเรือนแสน เวลานักการเมืองลงพื้นที่ หัวคะแนนจะเป็นคนวางกำหนดการหรือตารางงานว่าจะไปไหน ทำอะไร จะต้องตั้งหน้าม้าไว้ทำหน้าที่ตั้งคำถามนำร่องให้ราษฎรถาม หรือมีการนำผู้เฒ่าผู้แก่มาต้อนรับนักการเมือง มีการมอบช่อกุหลาบหรือช่อดอกไม้ มีการสร้างภาพต่างๆนานา เพื่อให้สื่อมวลชนถ่ายรูปไปลงหนังสือพิมพ์หรือออกขาวโทรทัศน์ หรือสมัยนี้ ถ่ายรูป ถ่ายคลิปไปออกสื่อโซเชียล นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเยือนจังหวัดโน้น จังหวัดนี้ ไม่มีหัวคะแนนมาทำหน้าที่หน้าม้าหรือสร้างภาพเพราะยังไม่ได้เป็นนักการเมือง มีแต่ข้าราชการในจังหวัดนั้นๆหรือท้องที่นั้นๆ ทำหน้าที่แทน การเมืองเป็นเรื่องของการใช้เงิน เพราะจะขยับทำอะไร ล้วนต้องใช้เงินทั้งนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาขึ้นศาลที มีพ่อยก แม่ยก แห่กันมาเชียร์ล้นหลาม คนที่มาคงจะมีไม่กี่คนที่ใช้เงินตัวเองเป็นคารถ ค่ากินอยู่ ส่วนเรื่องซื้อเสียงนั้น สมัยก่อน หรือยกตัวอย่างที่พลเอกประยุทธ์จะยึดเป็นโมเดลก็ได้ นั่นคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ขึ้นเป็นนายกฯครั้งแรกด้วยการทำรัฐประหารแบบเดียวกันกับพลเอกประยุทธ์ในขณะนี้ เมื่อถึงคราวต้องคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ตนยังต้องการสืบทอดอำนาจ ก็ต้องแสดงความเป็นประชาธิปไตยด้วยการลงเลือกตั้ง อย่างที่บอกไว้แล้วว่า กว่าจะเป็นนักการเมืองได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอน ต้องสร้างสมบารมี ต้องสร้างความนิยมอย่างหนัก แต่เมื่อมาทางลัด จู่ๆจะให้คนเลือก ก็คงจะยากอยู่ การใช้เงินซื้อเสียงที่เป็นสูตรสำเร็จในการกวาดคะแนนเสียงใช่ว่าจะง่าย เพราะคนที่จะ “ซื้อ” เสียงให้นักการเมืองได้นั้น จะต้องเป็นคนที่ชาวบ้านไว้เนื้อเชื่อใจมิใช่จู่ๆก็หิ้วกระเป๋าเจมส์ บอนด์ ยัดเงินเป็นปึกไปแจก คนแปลกหน้านั้น อย่าว่าแต่จะให้รับเงินเลย แค่ไปพูดด้วย ชาวบ้านก็ไม่ยอมพูด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องใช้สูตรสำเร็จ คือซื้อหัวคะแนนก่อน จากนั้นจึงให้หัวคะแนนไปซื้อเสียงด้วยการแจกเงินอีกที ครั้งนั้น พลเอกเกรียงศักดิ์ไปลงสนามที่ร้อยเอ็ด โดยหลังจากสำรวจแล้ว มีความเป็นไปได้มากที่จะซื้อเสียงในพื้นที่นี้ แต่ชาวร้อยเอ็ดก็มีนักการเมืองในดวงใจของตนเหมือนกัน พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมในครั้งนั้น ขึ้นไปเผชิญหน้ากับอินทรีบางเขนอย่างหักหาญ สมศักดิ์ศรีเสาหลักประชาธิปไตย แม้จะไม่ชนะ แต่ก็ทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ต้องควักกระเป๋า (เศรษฐีหัวเบี้ย) ก้อนใหญ่ ที่ใหญ่พอจะใช้รณรงค์หาเสียงได้ทั้งประเทศ ปรากฏการณ์ครั้งนั้น เรียกว่า “โรคร้อยเอ็ด” ที่กลายเป็นศัพท์รัฐศาสตร์การเมืองไปแล้ว โรคร้อยเอ็ดยุคนี้ เกิดขึ้นมาได้ในบางพื้นที่ เพราะในช่วงหลังๆ คนไทยเข้าถึงสื่อกันมากขึ้น นักการเมืองทำงาน ทำการบ้านกันมากขึ้น ส.ส.ประเภทเอาปลาทูเค็มไปแจกแลกคะแนนเสียง สูญพันธุ์ไปมาก นโยบายพรรคและผลงานพรรคมาแทนที่ คำว่า “คืนหมาหอน” หายไป เพราะเขาไปกันกลางวันแสกๆ ของที่ไปแจกก็คือนโยบายประชานิยม ที่เรียกว่า “ประชานิยม” เป็นการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการซื้อเสียงจากรูปแบบเดิมมาเป็นการใช้อำนาจรัฐ ใช้เงินหลวง เพื่อทำให้ “ประชา” หันมา “นิยม” ในตัวพรรคการเมืองหรือนักการเมืองนั้นๆ แม้จะโจมตีนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณ แต่การสร้างความนิยมผ่านนโยบายต่างๆของรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่โครงการประชารัฐในรูปแบบต่างๆ จนถึงการ “ซื้อ” ใจคนยากคนจนด้วยเงินสวัสดิการคนจน 300 บาท ก็มีผลตามเป้าหมายเดียวกัน คือซื้อความนิยมจากประชาชน เรื่องแบบนี้ จึงจะต้องตั้ง “คำถาม” กันไหม ว่าสังคมต้องการ การเมืองใหม่ พรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองหน้าใหม่ๆ หรือไม่? ถ้าคิดว่าถามไปแล้วได้คำตอบใหม่ๆที่มีคุณค่า นำไปยกระดับเป็นการเมืองคุณภาพได้ ก็ถามกันไป แต่ถ้าคิดว่า รู้ๆกันอยู่แล้ว ถามไปก็ได้คำตอบเดิมๆหรืออาจมีสวน ก็ไม่ต้องถาม ในเมื่อคำถามนั้น มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว แล้วจะถามไปทำไม?