ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำมาหากินฝืดเคือง เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้พลเมืองไม่พอใจ “รัฐ” หรือผู้กุมอำนาจรัฐ ดังนั้น “ปัญหาความมั่นคงของรัฐบาล” อันดับต้น ๆ แท้จริงแล้วก็คือปัญหาการหารายได้จากการทำมาหากินของพลเมือง ปัญหาการทำมาหากินนั้นปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า “ปัญหาเศรษฐกิจ” พอเรียกว่าปัญหาเศรษฐกิจ ก็เลยต้องพึ่งพานักวิชาการด้านเศรษฐกิจหรือนักเศรษฐศาสตร์ แต่แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่สังคมไทยปฏิบัติอยู่นี้คือ “ระบบทุนนิยม” คำอธิบายสาเหตุต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจและแนวทางแก้ไขปัญหาจึงล้วนอยู่ภายในกรอบของทุนนิยม เศรษฐกิจทุนนิยมนั้นมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่ด้านหนึ่งคือปัญหาการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงอย่างเป็นธรรม และนี่คือจุดที่จะทำให้พลเมืองเกิดความไม่พอใจรัฐ ดังเช่นขณะนี้ ตัวเลข GDP และตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยอยู่ในระดับพอใช้ได้ แต่ชาวบ้านทั่วไปกลับบ่นว่าทำมาหากินใดเคือง นั่นเป็นเพราะรายได้จากตัวเลขจีเพีและจากการส่งออกนั้น มิได้กระจายถึงพลเมืองภาคส่วนนอกอุตสาหกรรม ปัญหาที่ชัดเจนคือเรื่องสินค้าเกษตรปฐมภูมิราคาต่ำ สินค้าเกษตรปฐมภูมิทุกชนิดอาจจะราคาตกต่ำได้ทั้งนั้น ไม่ว่า ยางพารา , ปาล์มน้ำมัน , ข้าว , มันสำปะหลัง , ผลไม้ หรือแม้กระทั่งข้าวโพดที่กังพยายามผลักดันให้ขยายการผลิต (แทนการปลูกข้าว)กันยกใหญ่ขณะนี้ ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ แล้วรับต้องช่วยเหลืออุ้มชูเกษตรกรรายย่อย เป็นปัญหาซ้ำซากวนเวียนของสังคมไทยมานานมากแล้ว และก็ยังอับจนหนทางแก้ไข นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป มองปัญหานี้ว่า สาเหตุสําคัญที่ทําให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำคือ ปริมาณผลผลิตมีมากกว่าความต้องการบริโภค หรือ มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ซึ่งวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ คือ ต้องควบคุมปริมาณการผลิตไม่ให้มีมากเกินกว่าความต้องการบริโภค (ควบคุมด้านอุปทานของสินค้า) และ/ หรือ เพิ่มความต้องการบริโภคให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตที่มีมากขึ้น (เพิ่มอุปสงค์ของสินค้า) ทั้งนี้การเพิ่มความต้องการบริโภคสินค้าสามารถทําได้โดยการเพิ่มหรือขยายตลาด แต่หากไม่มีการควบคุมปริมาณการผลิตให้เหมาะสม ในที่สุดเมื่อความต้องการบริโภคถึงจุดอิ่มตัว ก็จะเกิดปัญหาราคาตกต่ำเช่นเดิม นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การควบคุมปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคจึงเป็ นแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้อย่างยั่งยืน แต่การควบคุมปริมาณการผลิตของเกษตรกรรายย่อยไทยนั้น เป็นไปได้ยากแสนยาก หรืออาจกล่าวได้ว่าคงเป็นไปไม่ได้ แนวทางของรัฐบาลนี้จึงพุ่งไปที่การสร้างฟาร์มใหญ่ประชารัฐ การกระตุ้นให้เษตรกรเปลี่ยนจากปลูกข้าวไปปลูกพืชแน เช่นข้าวโพด เป็นต้น แต่เราเห็นว่า กลไกการตลาดในสังคมไทยและทั่วโลกยังอยู่ในกรอบทุนนิยม ที่ทุนใหญ่จะกดราคาสินค้าเกษตรปฐมภูมิได้ตลอดไป “ฟาร์มใหญ่” และ “เทคโนโลยี” อาจช่วยลดต้นทุนได้บ้าง แต่จะไม่อาจแก้ปัญหาด้านราคาได้สำเร็จแท้จริง ตราบใดที่เกษตรกรรายย่อยส่วนข้างมาก ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว พึ่งพาทุนอุตสาหกรรมเกษตร พึ่งพารายได้จากพืชเชิงเดี่ยวบางฤดูกาลเท่านั้น ตราบนั้นก็ยังมีรายได้น้อยเพราะราคาสินค้าตกต่ำอยู่ต่อไป อันที่จริง “ศาสตร์พระราชา” ได้ชี้ทางออกไว้แล้ว แต่ “สังคมทุนนิยม” ย่อมต้องการให้สินค้าเกษตรปฐมภูมิราคาต่ำ ๆ ตลอดไป