รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นวิธีการที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวมีผลกระทบตามมาต่อแวดวงการศึกษาอยู่ไม่น้อย เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคมนำมาซึ่งการปิดห้องเรียน ปิดสถานศึกษา การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป การเรียนออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมไปถึงการสอบออนไลน์ การประเมินผลออนไลน์ การนิเทศออนไลน์ การเยี่ยมบ้านนักเรียนแบบออนไลน์ หรือปฐมนิเทศออนไลน์ก็ด้วย เรียกได้ว่า อะไร ๆ ก็ต้องออนไลน์!! หลาย ๆ ประเทศจึงเริ่มกำหนดทิศทางการศึกษาในอนาคตโดยมุ่งเน้นไปทางด้านดิจิทัล นอกจากสาเหตุเพราะความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยเร่งอย่าง “โควิด-19” นี่แหละที่ทำให้อะไร ๆ ก็ต้องออนไลน์มากขึ้น!! จากข้อมูลของ กคศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ระบุไว้ว่า “โลกการเรียนแบบออนไลน์นี้” เป็นสาเหตุให้นักเรียนจำนวนกว่า 1.5 พันล้านคน หรือมากกว่า 90% ของนักเรียนทั้งหมดในโลกได้รับผลกระทบด้านกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่น่าคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อีกหนึ่งกิจกรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเรียนออนไลน์ นั่นก็คือ “ปฐมนิเทศออนไลน์” เพราะเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความเข้าใจพื้นฐานในภาพรวมเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในสถานศึกษาของผู้เรียนได้ทั้งหมด สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ชั้นปีที่ 1 จำนวน 1,027 คน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2564 ในประเด็นที่ว่า “นักศึกษาใหม่ต้องการอะไรในกิจกรรมปฐมนิเทศ?” ผลสำรวจน่าสนใจมากครับ...เนื้อหาในกิจกรรมปฐมนิเทศที่นักศึกษาอยากฟังมากที่สุด คือ แนวทางการจัดกิจกรรมนักศึกษาทั้งหมด ร้อยละ 68.18 รองลงมาคือ รายละเอียดเรื่องค่าเล่าเรียน ทุนการศึกษา ร้อยละ 68.05 แนวทางการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ร้อยละ 67.17 ระบบการสอบ การวัดผล ร้อยละ 64.15 และ การลงทะเบียนเรียน ร้อยละ 63.65 โดยนักศึกษาอยากฟังเรื่องราวต่าง ๆ ผ่าน “รุ่นพี่ปัจจุบัน” มากที่สุด ร้อยละ 78.21 รองลงมาจึงเป็น “อาจารย์” ร้อยละ 68.85 และรุ่นพี่ศิษย์เก่า ร้อยละ 50.64 ส่วน “ผู้บริหาร” นั้นนักศึกษาก็อยากฟังครับ แต่อยู่ในลำดับที่ 4 ร้อยละ 31.79!! แสดงว่านักศึกษารุ่นใหม่เขาสนใจและอยากฟังการถ่ายทอดจากคนวัยใกล้กัน มากที่สุด ถามต่อไปว่า “หากต้องทำคลิปนำเสนอเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย” ในกิจกรรมปฐมนิเทศ นักศึกษาก็บอกว่าอยากให้คลิปมีความยาวไม่เกิน 3 – 6 นาทีเท่านั้น และต้องเน้นความสร้างสรรค์ ดูแล้วไม่เบื่อ ใช้ภาษาเข้าใจง่าย เป็นภาษาวัยเดียวกัน เน้นสนุก ตลก เฮฮา ไม่เครียด แยกหมวดคลิปเป็นเรื่อง ๆ จากผลการสำรวจจะเห็นได้เลยว่า นักศึกษาเขาต้องการกิจกรรมปฐมนิเทศที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ มีเรื่องที่ตรงกับความสนใจ คนที่จะมาเล่าหรือถ่ายทอดนั้นก็ต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย วัยเดียวกัน หากสถานศึกษานำผลการสำรวจไปใช้ก็จะทำให้ได้แนวทางการกิจกรรมปฐมนิเทศออนไลน์ได้ตรงใจนักศึกษาได้ไม่ยากเลยทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้การให้บริการหรือจัดกิจกรรมบนโลกออนไลน์ใคร ๆ ก็ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ หากทำได้ “ถูกใจ” “ตรงใจ” ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการหรือนักศึกษาของเรานั้น “ให้ใจ” กลับมาเช่นกัน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ “ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)” ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลที่สรุปไว้ว่า ในโลกออนไลน์สิ่งที่แบรนด์หรือผู้ให้บริการควรจะต้องให้ความสำคัญ คือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทัน รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้านเพื่อประเมินสถานการณ์ สุดท้ายคือควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที การนำข้อมูลผลการสำรวจมาวิเคราะห์ความต้องการ และวางแนวทางในการจัดกิจกรรมออนไลน์ให้ตรงกับใจนั้น จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ถ้านำข้อมูลมาจัดกิจกรรมปฐมนิเทศออนไลน์ได้ดี....คำว่า “อะไร ๆ ก็ออนไลน์” “น่าเบื่อ” “เปลืองเน็ต” หรือ “ไม่อยากเข้าอ่ะ” ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นตามมานะครับ