สมบัติ ภู่กาญจน์ มาฟังความคิด ที่อาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านมุมมองเรื่องการเมืองของนักคิดชาวอังกฤษชื่อ เบอร์แทรนด์ รัสเซ็ล แล้วก็นำมาเล่าต่อให้คนไทยฟัง กันต่อไป ความคิดนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนลงในคอลัมน์ประจำที่สยามรัฐรายวันไว้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2518 ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆที่ผมจะค่อยๆเล่าไปในระหว่างที่อ่านไป เนื้อความที่ต่อจากตอนที่แล้วนั้น มีดังนี้ ******** ******** “ รัฐมนตรีบางท่านในเมืองไทย เป็นผู้มีความรู้สูงเป็นปัญญาชนโดยแท้ แต่ประสงค์จะออกบวชนั่งทางใน ตัวท่านจะทราบหรือไม่ผมก็ไม่รู้ว่า ความประสงค์นี้อาจเกิดจากความรู้โดยสัญชาติญานว่า วิชาความรู้ของท่านอย่างเดียวไม่ทำให้คนนับถือหรือเกิดอำนาจได้ ความนับถือของคนอื่น อาจจะมาจาก ‘อำนาจทางจิต’หรืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ ที่คนเขาเชื่อว่าท่านมี ก็อาจเป็นได้เหมือนกัน ส่วนคนที่จะใช้อำนาจการปกครองนั้น ใครๆก็รู้กันว่าได้แก่นักการเมือง ซึ่งรัสเซ็ลกล่าวว่า ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น นักการเมืองจะต้องสามารถทำให้พรรคการเมืองเชื่อถือไว้วางใจในตนเสียก่อน แล้วจึงหาความนิยมในผู้เลือกตั้งให้ได้มากจนพรรคนั้นมีเสียงข้างมากในสภา นักการเมืองคนใดทำได้ดังนั้น ก็จะเป็นผู้มีอำนาจปกครองประเทศ รัสเซ็ลตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นักการเมืองที่เก่งจริงๆจะใช้พรรคการเมืองของเขาเป็นเครื่องยนต์ ให้พรรคทำการทุกอย่างตามเจตนาของเขา และกล่าวต่อไปว่า “ ในยามที่บ้านเมืองมีเหตุตื่นเต้น นักการเมืองไม่จำต้องใช้ความสามารถในการแสดงเหตุผล ไม่ต้องรู้ธรรมอันใดที่ไม่เข้าข้างตน และไม่ต้องมีความฉลาดแม้แต่เพียงนิดเดียว แต่สิ่งที่เขาต้องมีก็คือ ความสามารถที่จะทำให้ฝูงชนเชื่อว่า สิ่งที่ฝูงชนต้องการนั้นเป็นไปได้ ” ความจริงข้อนี้ พิสูจน์ได้ด้วยเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วนักต่อนัก ในสถานที่หลายแห่งในโลก รัสเซ็ลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจอีกสองอย่างที่ออกจะน่าสนใจ คือ อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางโฆษณา อันเป็นอำนาจที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันและไม่เคยมีมาก่อนในโลกสมัยโบราณ อำนาจทางเศรษฐกิจนั้น รัสเซ็ลบอกว่าขึ้นอยู่กับกฎหมายและมติมหาชน หากกฎหมายและมติมหาชนอำนวยให้แล้ว บุคคลใดหรือคณะบุคคลใดก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจได้ แต่อำนาจทางเศรษฐกิจอาจมีอิทธิพลเหนือกฎหมายได้ด้วยคอร์รัปชั่น และมีอำนาจเหนือมติมหาชนได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และในสังคมประชาธิปไตย อำนาจทางเศรษฐกิจมักจะตกอยู่แก่สองฝ่าย คือการผูกขาดโดยกลุ่มบุคคลฝ่ายหนึ่งและสหพันธ์แรงงานอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรัสเซ็ลมีความเห็นว่ารัฐบาลควรจะอยู่ระหว่างกลางและเป็นผู้ตัดสินระหว่างสองฝ่ายนี้” ข้อเขียนชิ้นแรกของอาจารย์คึกฤทธิ์ หมดเนื้อที่แต่เพียงแค่นี้ ผมขออนุญาตย้ำว่า นี่คือข้อเขียนเมื่อปี พ.ศ.2518 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาธิปไตยในบ้านเมืองไทยกำลังเบ่งบานเต็มที่ ขณะที่ทหารหมดอำนาจไปโดยสิ้นเชิง นักวิชาการก็กำลังระริกระรี้กับแนวคิดสังคมนิยมนานาชนิด โดยมีนิสิตนักศึกษาลุกขึ้นชี้นำแนวทางประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙พระราชทานรัฐบาลชั่วคราวให้บริหารประเทศเพื่อจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชตัดสินใจหยุดเขียนสยามรัฐเพื่อไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง จนในที่สุดตัดสินใจตั้งพรรคส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่กำหนดขึ้นเมื่อต้นปี 2518 ผลการเลือกตั้งพรรคของเขาได้คะแนนเสียงเพียง 18 เสียง จากสามร้อยกว่าเสียงในสภาฯ นี่คือสถานการณ์ขณะที่ข้อเขียนชิ้นนี้ปรากฏออกมา ขณะที่เขียนนี้ สภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศยังไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจารย์คึกฤทธิ์ใช้เวลาว่างกลับมาเขียนคอลัมน์ใหม่ และแนวคิดที่นำเสนอไว้ก็ยังไม่จบ ยังมีต่อชิ้นที่สองอีกดังนี้ ******** ******** ในเรื่องมติมหาชนนั้น รัสเซ็ลกล่าวว่า มติมหาชนเป็นอำนาจที่สุดในกิจการของสังคม ซึ่งผมมีความเห็นว่า ยังมีอำนาจในทางอื่นๆอีก ที่อาจจะกำหนดเป็นมติมหาชนได้ เช่นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการสื่อสารมวลชนสามารถทำให้เกิดปัจจัยที่จะจูงใจมนุษย์ให้คล้อยตามได้โดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับได้เช่นกัน ( ขออนุญาตย้ำตรงนี้ว่า แนวคิดนี้เขียนไว้ตั้งแต่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เป็นเช่นปัจจุบันนี้ยังไม่เกิด แต่โปรดสังเกตว่าคนที่เป็นนักคิดจริงๆเขามองเห็นการไกลกันด้วยตรรกะและวิธีคิดเช่นไร? ซึ่งทุกวันนี้นักวิชาการที่รื่นรมย์อยู่กับทฤษฎีฝรั่งใหม่ๆมีไม่น้อยหรืออาจจะมากกว่าเหตุการณ์ยุคอดีต แต่นักคิดนักเขียนที่รู้จักสังคมไทยรู้การไกลและรู้วิธีคิดที่จะให้สติแก่สังคมไทยให้มากขึ้น กลับเสมือนจะหายากขึ้นทุกวันแล้ว เราจะทำอย่างไรกันดี? ... ขออนุญาตถอนใจหนึ่งเฮือก...แล้วเชิญอ่านกันต่อไปครับ)ดังจะเห็นกันว่า คนที่เขาปฏิวัติด้วยอาวุธ เขาก็จะใช้กำลังคนที่ถืออาวุธนั้นเข้ายึดสถานีวิทยุไว้ก่อนอื่น และหนังสือพิมพ์นั้น เมื่อเป็นที่ยอมรับกันว่ามีอิทธิพลเหนือความคิดของคนอ่านเป็นจำนวนมากได้ แล้ว การพิจารณาเรื่องเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องถกเถียงกันมากในเรื่องของการแสวงหาอำนาจในยุคนี้ รัสเซ็ลเชื่อว่า การใช้อำนาจทุกอย่างควรจะมีขอบเขตอันเป็นกฎหมายหรือประเพณี และคนที่ใช้อำนาจนั้นควรเป็นคนที่ได้รับเลือกมาจากผู้ที่จะต้องอยู่ใต้อำนาจนั้น เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ รัสเซ็ลไม่ไว้ใจบุคคลใดหรือคณะบุคคลใดทั้งสิ้นว่าจะมาใช้อำนาจได้อย่างถูกต้อง นักคิดทางการเมืองในสมัยหนึ่งเคยพูดกันว่า ความสงบสุขของประชาชนจะเกิดมีขึ้นเมื่อมี ‘พระธรรมราชา’(Philosopher King)มาปกครองแผ่นดิน แต่รัสเซ็ลเห็นว่าโอกาสเช่นนั้นจะไม่มีอีกแล้ว จะมีก็แต่พรรคการเมืองที่อ้างว่าตนเองเป็น ‘ธรรมราชา’เห็นว่าตนเองรอบรู้ไปหมดทุกอย่าง รู้วิธีแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอยู่แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น คนอื่นๆโง่หมด รัสเซ็ลเตือนว่าอย่าไปเชื่อถือพรรคการเมืองเช่นนี้ และยังมีความเห็นต่อไปว่า รัฐบาลไม่ควรจะถือว่าตนเป็นผู้เดียวที่จะรักษาสัจจธรรมหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งปวงหรือศีลธรรมทั้งปวง เพราะอำนาจของรัฐบาลนั้น ยิ่งมีมากขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลยิ่งห่างไกลจากความผาสุกของประชาชนไป ถึงตรงนี้ผมมีความเห็นว่า รัสเซ็ลเห็นไม่ตรงกับสังคมนิยมแน่นอน แต่ความคิดของเขาก็ควรรับฟังไว้ เพราะผู้ที่มีอำนาจและยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆนั้น มักจะลืมตัวและลืมคนอื่นๆได้ง่ายขึ้นด้วย การใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อสร้างและรักษาความเป็นธรรมในสังคม ควรจะใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพของบุคคลทั่วไป เพราะถ้าไม่ระมัดระวังในเรื่องนี้ก็เท่ากับเป็นการเพาะพันธุ์เมล็ดพืชให้งอกเงยเป็นคนเช่นนโปเลียน ฮิตเล่อร์หรือสตาลินขึ้นมา รัสเซ็ลมีความเห็นว่า อำนาจในทางทหารหรือในทางการเมืองเป็นอำนาจที่ไม่จีรังยั่งยืน เขาเห็นว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คนสี่คนที่มีอำนาจเหนือคนอื่นมากที่สุดคือพระพุทธเจ้า พระเยซูคริสต์ ไพทากอรัส และกาลิเลโอ คนเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือระบอบการปกครองใด แต่ได้พยายามทำตามคิดและวิธีการของตนเองในการที่จะปลดปล่อยให้คนเป็นเสรี ได้ทั้งในทางใจและในทางธรรมชาติ แต่เราจะหาคนเหล่านี้ได้ไม่ง่าย เราจึงยังมีปัญหาที่จะต้องรักษาอำนาจของมนุษย์ที่มีคุณธรรมน้อยกว่านั้น ให้อยู่ในขอบเขตตลอดไปและด้วยความเหมาะสม ” อาจารย์คึกฤทธิ์จบแนวคิดของรัสเซ็ลไว้แค่นี้ ก่อนที่จะนำความคิดของเฮ็ลมุต เชิค (Helmut Schoeck)นักคิดชาวเยอรมันมาเสนอต่อ ผู้สนใจขอเชิญติดตามต่อสัปดาห์หน้าครับ